การจัดฟันคือหนึ่งในบริการด้านทันตกรรมที่ได้รับความนิยม และยังเป็นธุรกิจดาวรุ่ง ที่มีความต้องการสูงในตลาด อย่างไรก็ตาม กลับพบว่าสัดส่วนของทันตแพทย์ที่จบใบปริญญาด้านการจัดฟันยังมีจำนวนไม่มากพอกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น
ระบบการศึกษา ข้อจำกัดการผลิตทันตแพทย์จัดฟัน
ทพ.สุรัตน์ ลีนะศิริมากุล เลขาธิการทันตแพทยสภา คาดการณ์ว่ามีเคสจัดฟันใหม่เกิดขึ้นประมาณ 100,000 ราย/ปี แต่กลับมีทันตแพทย์ที่จบใบปริญญาด้านการจัดฟันในประเทศไทยเพียงประมาณ 300-400 คนเท่านั้น
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น ทพ.สุรัตน์เห็นว่าเกิดจากข้อจำกัดของระบบการศึกษาไทย ที่ไม่เอื้อต่อการเพิ่มจำนวนบุคลากรให้ทันต่อความต้องการ
“สถาบันผลิตทันตแพทย์จัดฟันที่เป็นทางการ มีอยู่ในเฉพาะในมหาวิทยาลัยรัฐ หรือที่เรียกว่าการเรียน ‘ในระบบ’ เป็นหลักสูตรการเรียนระดับปริญญาโท สาขาคลินิคจัดฟัน
โดยหลักเกณฑ์ของกระทรวงศึกษาระบุว่าคนที่จะสอนปริญญาโทได้ ต้องจบปริญญาเอก แต่ในความเป็นจริง หมอคือวิชาชีพที่ฝึกฝนความชำนาญผ่านการปฏิบัติ จึงแทบไม่มีทันตแพทย์ที่เรียนจนจบปริญญาเอกทางคลีนิคการแพทย์
ก่อนหน้านี้ จึงมีการเสนอไปยังสำนักงาน ก.พ. (สำนักงานข้าราชการพลเรือน) เพื่อให้คนที่มีวุฒิบัตรระดับปริญญาโท สามารถเทียบวุฒิปริญญาเอก เพื่อให้เขาสามารถสอนและคุมวิจัยได้”
คุณสมบัติที่กำหนดขึ้นมานี้ ทำให้การหาอาจารย์มาสอนหลักสูตรในระบบจึงไม่ใช่เรื่องง่าย และยังติดเงื่อนไขการควบคุมคุณภาพการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งกำหนดให้อาจารย์ 1 คน สามารถคุมวิทยานิพนธ์นักเรียนได้เพียง 3-4 คนเท่านั้น มหาวิทยาลัยรัฐจึงไม่สามารถรับนักเรียนทันตแพทย์ระดับปริญญาโทได้ครั้งละจำนวนมาก บางมหาวิทยาลัยสามารถรับนักศึกษาได้แค่ 3-4 คนต่อปีเท่านั้น
นอกจากนี้ ทันตแพทย์เองก็ไม่มีแรงจูงใจเข้าเรียนหลักสูตรการเรียนระดับปริญญาโท สาขาคลินิคจัดฟัน เนื่องจากภาระทางการเรียนที่บังคับให้ทันตแพทย์ต้องหยุดงานหรือปิดคลินิคเป็นเวลา 3 ปี
“การเรียนการสอนปริญญาโทยังซ้ำซ้อนกับหลักสูตรในระดับปริญญาตรี เมื่อจบออกมาแล้ว มีอัตราค่าตอบแทนที่ไม่ต่างจากคนที่เรียนจบปริญญาตรี จึงไม่จูงใจให้ทันตแพทย์เข้าเรียนในระบบ” ทพ.สุรัตน์ กล่าว
การเรียนปริญญาโทมีเงื่อนไขให้ทันตแพทย์ต้องทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งอาจไม่ตอบโจทย์ทันตแพทย์ที่ต้องการความรู้เพื่อเอาไปปฏิบัติ นักเรียนปริญญาโทจำนวนหนึ่งจึงเลือกรับใบประกาศคลินิค แทนการทำวิทยานิพนธ์
คอร์สจัดฟัน “นอกระบบ“ ฉวยโอกาสเปิดทางเลือกแทนการเรียนเต็มเวลา “ในระบบ”
การเข้าถึงความรู้ในทุกวันนี้ มิได้ผูกขาดโดยมหาวิทยาลัยอีกต่อไป เมื่อมีช่องทางออนไลน์และเทคโนโลยีการสื่อสาร รวมทั้งยังมีวารสารทางการแพทย์ที่เข้าถึงได้ง่าย และแพร่กระจายบนอินเตอร์เน็ต ทันตแพทย์จึงสามารถหาความรู้ด้านการจัดฟันได้ไม่ยากนัก
และยังสามารถกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญได้โดยมิต้องผ่านหลักสูตรมหาวิทยาลัย
ทันตแพทย์จำนวนหนึ่งที่มีความรู้ด้านการจัดฟัน จึงหันมาเปิดคอร์สสอนเทคนิคจัดฟันระยะสั้น หรือที่เรียกกันว่าการเรียน ‘นอกระบบ’ โดยมีระยะเวลาการสอนตั้งแต่ 1-2 วัน ไปจนถึง 1 ปี โดยคอร์สมักเน้นทฤษฎีมากกว่าปฏิบัติ ผู้เรียนเหล่านี้สามารถเรียนไปทำงานไป และเลือกศึกษาเทคนิคจัดฟันเฉพาะตามความสนใจของผู้เรียนได้
ในทางกฎหมายนั้นถือว่าไม่ผิด เพราะพระราชบัญญัติวิชาชีพทันตกรรมไม่ได้ห้ามทันตแพทย์ที่จบระดับปริญญาตรี ให้บริการหรือเปิดคอร์สด้านการจัดฟัน แต่ทันตแพทย์ต้องคำนึงถึงจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพ เช่น ไม่อวดอ้างความสามารถของตนเองเกินจริง หรือให้บริการโดยที่ไม่มีความเชี่ยวชาญ เป็นต้น อย่างไรก็ดี การเรียนคอร์สดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง จากการสำรวจของ Hfocus พบว่าค่าใช้จ่ายในการเรียนเริ่มต้นตั้งแต่ 9,000 บาท ไปจนถึง 200,000 บาท ขึ้นอยู่กับจำนวนวันที่เรียนและเทคนิคการจัดฟันที่สอนในหลักสูตร
ทพ.ธานัน จารุประกร นายกสมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทย ได้แสดงความกังวลต่อการเปิดคอร์สจัดฟันระยะสั้นว่า พบบางกรณีที่ผู้สอนในคอร์สมิใช่ทันตแพทย์จัดฟัน หรืออาจไม่ใช่ทันตแพทย์เลยแต่เป็นเจ้าของแลบหรือเซลล์จากบริษัทด้านเทคโนโลยีและอุปกรณ์จัดฟัน
“เนื่องจากทันตแพทย์จัดฟันในระบบมีจำนวนไม่มาก ความต้องการจะจัดฟันก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งการเรียนการสอนในระบบก็ผลิตได้ปีละไม่กี่คน เนื่องจากหลักสูตรเต็มเวลาใช้เวลานานหลายปี เป็นโอกาสให้มีการเปิดคอร์สจัดฟันเป็นนอกระบบสนองความต้องการของทันตแพทย์ที่อยากเรียนและอยากให้การรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน ในทางกฎหมายเราไม่สามารถห้ามเขาเปิดคอร์สได้” ทพ.ธานัน กล่าว
“ที่สำคัญคือ ทันตแพทย์ผู้ให้การรักษาต้องคำนึงถึงจริยธรรม เขาควรทำเฉพาะในเคสที่มีความสามารถทำได้ ถ้ารู้ว่าทำไม่ได้ หรือเป็นเคสยาก ควรส่งให้ผู้เชี่ยวชาญ”
ทพ.ธานัน ให้ความเห็นว่าการเลือกเคสเป็นสิ่งที่ยาก ทันตแพทย์ต้องมีองค์ความรู้ด้านทันตกรรมจัดฟันในภาพรวมทั้งหมดจึงจะสามารถเลือกเคสได้ บางเคสอาจดูง่าย แต่ในความเป็นจริงเป็นเคสที่ยาก ทันตแพทย์ที่มีความรู้และประสบการณ์จะสามารถคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นและชี้แจงคนไข้ไว้ล่วงหน้า โดยทั่วไปทันตแพทย์จัดฟันจะส่งเตรียมช่องปากก่อนการจัดฟัน เช่น อุดฟัน ถอนฟัน หรือผ่าฟันคุดก่อน ในบางกรณีโดยเฉพาะเด็กวัยรุ่น คนไข้ต้องการใส่เหล็กจัดฟันในทันที ไม่อยากเสียเวลาเตรียมช่องปาก จึงเลี่ยงหาทันตแพทย์ท่านอื่นที่ยอมทำความต้องการ ดังนั้นจึงต้องให้ความรู้กับประชาชนด้วย
“หากทันตแพทย์มีองค์ความรู้ด้านการจัดฟันน้อย อาจเลือกเคสไม่ถูก ผู้ที่เสียหายที่สุดคือคนไข้”
“ความไม่รู้“ ของคนไข้ เปิดช่องให้ “ทำเงิน“
ในอีกด้าน ข้อจำกัดในการเข้าถึงทันตแพทย์จัดฟัน ก็นำไปสู่ช่องว่างให้ “หมอเถื่อน” ฉวยโอกาสหากำไรจาก “ความไม่รู้“ ของคนไข้ ซึ่งมีกรณีการตรวจจับอย่างต่อเนื่องในช่วงปีหลังๆ
หนึ่งในกรณีที่น่าสนใจ เกิดขึ้นในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา เมื่อตำรวจภูธรภาค 5 ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกันเข้าบุกจับผู้ให้บริการจัดฟันเถื่อนในหอพัก ต.สันผีเสื้อ อ.เมือง หลังสืบทราบว่า ผู้เช่าห้องพักในหอดังกล่าวเปิดรับจัดฟันเถื่อน โดยที่ตนเองมิได้เป็นทันตแพทย์
ผู้ต้องหาให้การว่าตนได้ “ศึกษาวิธีการจัดฟันแฟชั่นจากอินเทอร์เน็ต” และหาลูกค้าผ่านเฟซบุ๊ค เน้นกลุ่มวัยรุ่นที่มีงบจำกัด นอกจากนี้ ยังพบการโพสต์ขายอุปกรณ์จัดฟันและรับจัดฟันตามหน้าโซเชียลมีเดียอย่างเปิดเผย
โจทย์การสร้างการเข้าถึงการจัดฟันที่คุณภาพ จึงอาจไม่ใช่แค่การเพิ่มจำนวนทันตแพทย์จัดฟันให้เพียงพอเท่านั้น แต่ยังต้องเพิ่มความรู้ของคนไข้ในการเลือกทันตแพทย์ สร้างกระบวนการที่ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานทางจริยธรรมของทันตแพทย์ในภาพรวม
พินิจ (นามสมมติ) เล่าให้ Hfocus ฟังว่าเมื่อเกือบหนึ่งปีก่อน ลูกสาวของตนได้เริ่มจัดฟันในคลินิคแห่งหนึ่งในกรุงเทพ แม้จะไม่พบปัญหาของคุณภาพในการจัดฟัน แต่กลับได้รับการบริการที่มีปัญหา
“หมอจัดฟันเขาเป็น
"คนคิวทอง" แทบไม่มีเวลาให้คำปรึกษากับเรา เราแทบไม่มีข้อมูลกระบวนการรักษา ทุกครั้งที่ลูกสาวเข้าห้องทำฟัน หมอจะทำฟันให้ 2 เตียงพร้อมกัน หันซ้ายทีขวาที ทำเสร็จแล้วก็รีบออกจากคลีนิคไปทำฟันที่คลีนิคอื่นต่อ” พินิจเล่า
ในการรับบริการครั้งหนึ่ง หมอฟันเร่งรีบจนทำฟันไม่เรียบร้อย มีคราบน้ำยาคลุมฟันของลูกสาวพินิจ เมื่อเขาต้องการขอย้ายเคสไปคลินิคอื่น หมอฟันเรียกค่าใช้จ่าย 10,000 บาทสำหรับการส่งต่อข้อมูลคนไข้ พินิจจึงร้องเรียนหน่วยงานด้านวิชาชีพ เพราะได้รับข้อมูลจากทันตแพทย์คนอื่นว่าการย้ายเคสไม่จำเป็นต้องสียค่าใช้จ่าย
“เรารู้สึกเหมือนไม่ได้รับการดูแลแบบคนไข้ เหมือนหมอทำให้จบๆ เพื่อทำเงินจากเคสของเรา” พินิจให้ความเห็น และเล่าเพิ่มเติมว่าเขาและลูกสาวเลือกคลินิคโดยไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพของหมอ เพียงแต่เห็นว่าคลีนิคอยู่ใกล้บ้าน มีคนใช้บริการเยอะ และมีโฆษณาหน้าร้านว่าหมอมีใบรับรอง และมีชื่อเสียงถึงขนาดที่ “ชาวต่างชาติต้องบินมาจัดฟัน”
มาตรการตึงและหย่อน ไม่แก้ปัญหา
ที่ผ่านมา สมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทยพยายามให้ความรู้กับสาธารณะ เพื่อให้คนไข้สามารถเลือกทันตแพทย์จัดฟันที่มีคุณภาพ
“เวลาถามคนไข้ว่าเลือกคลินิคทำฟันยังไง บางคนตอบว่าร้านสวยดี ร้านใหญ่ คนเยอะดี ส่วนใหญ่คำตอบที่ได้ไม่เกี่ยวกับตัวหมอ” ทพ.ธานัน กล่าว
“คนไข้ที่รับบริการมา แล้วเกิดความเสียหาย ต้องเสียเงินซ้ำซ้อนในการแก้ไข ในภาพรวมเป็นความเสียหายทางเศรฐกิจของประเทศ ทางราชการต้องเข้ามาคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องนี้ ส่วนหมอต้องไม่อวดอ้าง ต้องเลือกเคสจัดฟันที่เหมาะสมกับความสามารถและความรู้ที่ตนมี”
ข้อมูลของทันตแพทยสภาระบุว่า เคสจัดฟันส่วนมากเป็นเคสระดับปานกลาง คิดเป็น 70% ของเคสจัดฟันทั้งหมด ส่วนเคสที่มีความยากในการรักษายังถือว่ามีสัดส่วนที่น้อยกว่ามาก
ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา มีกรณีร้องเรียนปัญหาจากบริการจัดฟันมาที่ทันตแพทยสภา และมีการตั้งคณะกรรมการสอบประมาณ 30 กรณี ซึ่งยังถือว่าเป็นอัตราส่วนที่น้อยมาก และสะท้อนว่าการจัดฟันในประเทศไทยยังถือว่ามีมาตราฐานและคุณภาพระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องมีส่งเสริมให้ดียิ่งขึ้น
ทพ.สุรัตน์ เชื่อว่ามาตรการที่ตึงหรือหย่อนเกินไปจะไม่แก้ปัญหา หากออกกฎเหล็กเพื่อกำกับทันตแพทย์ หรือออกรายชื่อทันตแพทย์ที่อนุญาตให้จัดฟัน ก็อาจไปลิดรอนสิทธิคนไข้โดยปิดกั้นทางเลือกในการรักษา ขณะที่มาตราการที่หย่อนยาน หรือการปล่อยให้กลไกตลาดทำงานโดยไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปกำกับดูแล ก็อาจทำให้คนไข้มีโอกาสเจอทันตแพทย์และบริการที่ไม่มีคุณภาพ
“ทันตแพทยสภาสามารถเข้าไปปิดช่องว่าง โดยอาจเข้าไปส่งเสริมและจัดรูปแบบการศึกษาที่เหมาะสม มีหน่วยงานดูแลการศึกษาต่อเนื่องหลังทันตแพทย์จบปริญญาตรี และอาจเข้าไปช่วยดูแลการเรียนการสอนนอกมหาวิทยาลัย ทำให้ความรู้กระจายได้ แต่โดยที่สุดแล้ว หมอก็ต้องมีวิจารณญาณ ห้ามขี้คุย ถ้าทำเคสไม่ได้ ต้องไม่รับ”