(15 ตุลาคม 2562 เวลา 14.00 น.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานกดปุ่ม kick off จ่ายเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ให้ชาวนาทั้งประเทศวันนี้ซึ่งเป็นผู้ปลูกข้าวรอบแรก
ซึ่งเป็นชาวนาที่ได้รับส่วนต่างราคากว่า 349,000 ครัวเรือน งบประมาณทั้งสิ้น 9,400 ล้านบาท โดยใช้ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2562 / 2563 รอบที่ 1 เป็นเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนวันที่ 16 ตุลาคม 2562
นายจุรินทร์ กล่าวว่า โครงการประกันรายได้ผู้ปลูกข้าวเป็นหนึ่งในโครงการของรัฐบาลที่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และตนคือนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เป็นผู้ดำเนินการและวันนี้ครบ 90 วันสามารถจ่ายเงินส่วนต่างรอบแรกได้แล้ว ซึ่งโครงการนี้รัฐบาลจะทำการประกันรายได้พืชเศรษฐกิจ 5 ชนิด คือ ปาล์มน้ำมัน ข้าว ยางพารามันสำปะหลัง และข้าวโพด ส่วนพืชผลตัวนั้นก็ดูแลเช่นกันด้วยนโยบายอื่นอีก และประกันรายได้ที่ได้ดำเนินการไปแล้วคือปาล์มน้ำมัน ซึ่งพืชแต่ละชนิดจะทยอยดำเนินการตามความเหมาะสม
สำหรับการประกันรายได้ผู้ปลูกข้าวเพื่อชาวนานั้น คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 อนุมัติในหลักการโครงการ ประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 โดยรัฐบาลจะประกันรายได้ให้แก่ เกษตรกร ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 25 ตัน และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 16 ตัน
" พี่น้องชาวนาจะได้เงิน 2 กระเป๋า คือเงินจากการขายข้าว และเงินส่วนต่างหากราคาในตลาดไม่ถึงที่ประกันรายได้ไว้ และสำหรับชาวนาที่น้ำท่วมเจอภัยพิบัติก็ได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาลตามสิทธิคู่กันไปด้วยโดยรับเงินส่วนต่างตามโครงการนี้ด้วยเช่นกัน "
รายงานข่าวกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2562 คณะอนุกรรมการกํากับดูแลและกําหนดเกณฑ์ กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้มีมติเห็นชอบการกําหนดราคา เกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกร ผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 ในงวดที่ 1 ซึ่งราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงข้าวเปลือกหอมมะลิ อยู่ที่ตันละ 16,723.09 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ อยู่ที่ตันละ 15,651.05 บาท ข้าวเปลือกเจ้า อยู่ที่ตันละ 7,530.36 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี อยู่ที่ตันละ 10,216.55 บาท และข้าวเปลือกเหนียว อยู่ที่ตันละ 18,926.86 บาท
ดังนั้นจึงส่งผลให้รัฐบาลต้องจ่ายชดเชยส่วนต่างในข้าวเปลือก 2 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 2,469.64 บาท และ ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 783.45 บาท ส่วนชนิดที่เหลือนั้นอยู่ในเกณฑ์ราคาสูงเลยเพดานของราคาประกัน ทั้งนี้ การจ่ายเงินชดเชยงวดแรก ธ.ก.ส. จะโอนเงินชดเชยเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง ซึ่งเกษตรกรจะสามารถเบิกถอนเงินได้ทันทีภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 ซึ่งในงวดแรก มีเกษตรกรได้รับเงินชดเชยจากข้าวเปลือกเจ้าและข้าวเปลือกหอมปทุมธานี จํานวน ประมาณ 349,000 ครัวเรือน วงเงินชดเชยประมาณ 9,400 ล้านบาท
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน หลังจากการเปิด Kick off ประกันรายได้ผู้ปลูกข้าววันนี้ด้วยว่า ถือว่าเป็นวันประวัติศาสตร์ เป็นวันแรกที่ได้มีการโอนเงินส่วนต่าง ตามนโยบายประกันรายได้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวของรัฐบาล ถ้าจากนี้ไปก็จะมีการโอนเงินทุก 15 วัน งวดนี้ถือว่าเป็นงวดแรก โดยงวดถัดไปเป็นวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 และต่อไปก็วันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 และงวดถัดไปดำเนินการจนครบฤดูกาลผลิตนี้ เงินส่วนต่างที่โอนให้เกษตรกรนั้นงวดนี้ ครัวเรือนที่เงินสูงสุดได้ถึง 74,000 บาท และลดหลั่นกันไปตามข้อเท็จจริงและของคุณภาพข้าวและจำนวนปริมาณผลผลิตของชาวนาแต่ละครอบครัวเรือน
สำหรับการจ่ายเงินในวันนี้ ทั้งนี้เพื่อพิสูจน์ว่านโยบายประกันรายได้ของรัฐบาลสามารถทำได้ไว ทำได้จริง เพราะสามารถโอนเงินส่วนต่างงวดแรกได้ภายในแค่ 90 วัน นับแต่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งสำหรับการประกันรายได้เกษตรกรที่ปลูกข้าวนี้เป็นหนึ่งใน 5 ตัวที่รัฐบาลมีนโยบายประการ คือ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด และปาล์มน้ำมัน สำหรับปาล์มน้ำมันนั้น ได้มีการโอนเงินส่วนต่าง งวดแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมาและต่อไปก็จะโอนไปเรื่อยๆ จนครบทั้งหมด 8 งวดด้วยกันในแต่ละปีสำหรับปาล์มน้ำมัน
สำหรับยางพารา วันนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้วโดยประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกยางสำหรับยางแผ่นดิบชั้นสามกิโลละ 60 บาท น้ำยางสดกิโลละ 57 บาท ยางก้อนถ้วยกิโลละ 23 บาท ซึ่งได้กำหนดให้จ่ายเงินส่วนต่างตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน สำหรับยางที่ต้องใช้เวลา 15 วันก็เพราะว่าจะต้องทยอยตรวจสอบ ซึ่งให้เวลาการยางแห่งประเทศไทย ตรวจสอบ 15 วัน หากตรวจเสร็จก็จะโอนเงินทันทีผ่าน ธ.ก.ส. เข้าบัญชีเกษตรกร เตรียมไว้ 24,000 ล้านบาท จ่ายทั้งหมด 6 งวด