นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า มาตรการชิมช้อปใช้ ได้มีการส่ง SMS ยืนยันให้กับผู้ได้รับสิทธิ์ครบ 10 ล้านรายแล้ว โดยมีผู้เข้ายืนยันตัวตนในแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” แล้ว 9,606,300 ราย โดยยืนยันตัวตนสำเร็จ 9,260,223 ราย ผ่านทั้งช่องทางแอปพลิเคชันและที่สาขา
ในการใช้จ่าย 19 วันแรก มีผู้ใช้สิทธิ์ 8,519,390 ราย มีการใช้จ่ายรวม 8,282 ล้านบาท โดยเป็นการใช้จ่ายในร้านค้าขนาดเล็กตามวัตถุประสงค์ของมาตรการฯ ร้อยละ 82 หรือ 6,793 ล้านบาท และการใช้จ่ายในร้านค้าขนาดใหญ่ที่มีหลายสาขามีสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่องจากช่วงเริ่มต้นมาอยู่ที่ร้อยละ 18 หรือ 1,489 ล้านบาท โดยมีการใช้จ่ายกระจายครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ ไม่ได้กระจุกตัวเฉพาะในเมืองใหญ่ โดยการใช้จ่ายในกรุงเทพฯ คิดเป็นเพียงร้อยละ 13ทั้งนี้ เป็นการใช้จ่าย g-Wallet ช่อง 1 ประมาณ 8,169 ล้านบาท โดยเป็นการใช้จ่ายที่ร้าน “ช้อป” ซึ่งเป็นร้านในกลุ่ม OTOP ร้านวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งร้านธงฟ้าประชารัฐ และบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว 4,576 ล้านบาท ส่วนร้าน “ชิม” หรือร้านอาหารและเครื่องดื่มมียอดใช้จ่าย 1,152 ล้านบาท ร้าน “ใช้” เช่น โรงแรม โฮมสเตย์ มียอดใช้จ่าย 96 ล้านบาท และร้านค้าทั่วไปมียอดใช้จ่าย 2,345 ล้านบาท การใช้จ่าย g-Wallet ช่อง 2 มีการใช้สิทธิ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ใช้สิทธิ์แล้ว 36,854 ราย ยอดใช้จ่ายรวม 113 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากวันก่อนหน้า หรือเฉลี่ยรายละ 3,066 บาท เป็นการใช้จ่ายที่ร้าน “ช้อป” 70 ล้านบาท ร้าน “ชิม” และร้าน “ใช้” มียอดใช้จ่าย 28 ล้านบาท และ 15 ล้านบาท ตามลำดับ
โฆษกกระทรวงการคลังได้กล่าวว่า ประชาชนสามารถเติมเงิน เพื่อใช้จ่ายผ่าน g-Wallet ช่อง 2 ได้ทั้งร้านชิมช้อปใช้และร้านค้าทั่วไปในทุกจังหวัด ยกเว้นเพียงจังหวัดตามทะเบียนบ้านของตน ซึ่งการใช้จ่ายในร้านชิมช้อปใช้จะได้รับเงินคืนร้อยละ 15 ของยอดใช้จ่ายจริง แต่รวมแล้วไม่เกิน 4,500 บาท (ยอดใช้จ่ายสูงสุด 30,000 บาท) โดยจะได้รับเงินคืนเข้าแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ภายในเดือนธันวาคม 2562 สำหรับขั้นตอนการเติมเงินเข้า g-Wallet ช่อง 2สะดวกและรวดเร็ว สามารถเติมเงินผ่านการสแกน QR Code ได้ทุกธนาคาร หรือกรอกตัวเลข g-Wallet 15 หลักผ่าน mobile banking ของธนาคารต่างๆ ได้ เช่น หากใช้ของธนาคารกรุงไทยและธนาคารทหารไทยให้เลือกเมนูโอนเงินพร้อมเพย์ (Transfer) หากใช้ของธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารออมสินให้เลือกเมนูเติมเงินพร้อมเพย์ (Top up) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาขยายช่องทางการเติมเงินเพิ่มเติม เช่น ผ่านเครื่อง ATM เป็นต้น
โฆษกกระทรวงการคลังได้เน้นย้ำถึงเป้าหมายของมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ว่า เป็นการพยุงเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นไม่ให้ชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจโลก ผ่านการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว โดยให้แรงจูงใจดึงผู้มีกำลังซื้อออกมาเดินทาง กระจายเม็ดเงินไปยังเศรษฐกิจฐานรากและเกิดความคึกคักในการจับจ่าย ซึ่งการใช้จ่ายงบประมาณในการสร้างแรงจูงใจจะคุ้มค่าเพราะก่อให้เกิด Multiplier Effect ในการบริโภคเอกชนซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ มาตรการนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมีการช่วยเหลือในภาคส่วนอื่น เช่น เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย และผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งภาครัฐยังคงมีการลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ควบคู่กับการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำอย่างต่อเนื่อง