ข่าว กทม.วางแผนติดตั้งหอฟอกอากาศ ซึ่งสามารถฟอกอากาศครอบคลุมพื้นที่ได้ 1,000 ตารางเมตร รัศมีระยะทางรอบหอไม่เกิน 30 เมตร ราคาหอละ 5 ล้านบาท ทั้งหมด 24 หอ ฟอกอากาศได้ 24,000 ตารางเมตร ต้องใช้เงิน 120 ล้านบาท พื้นที่ กทม.มีทั้งหมด 1,500 ตารางกิโลเมตร หรือเท่ากับ 1,500 ล้านตารางเมตร หอฟอกอากาศ 24 หอฟอกอากาศได้เพียง 0.0016 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ กทม.เท่านั้น ถ้าจะครอบคลุมฝุ่นทั้ง กทม.ต้องสร้างหอ 1.5 ล้านหอ คิดเป็นเงิน 7.5 ล้านล้านบาท!!!
เช่นเดียวกับ กทม.กำลังซื้อรถฉีดน้ำขึ้นฟ้าเพิ่มอีก 6 คัน พ่นน้ำได้ไกลประมาณ 10 เมตรเพื่อช่วยดักจับฝุ่น แต่ก็ลดฝุ่นละออง PM2.5 ลงได้แค่พื้นที่เล็กๆเท่านั้น ครอบคลุมพื้นที่ได้น้อยมากๆเหมือนกับหอฟอกอากาศ เมื่อเทียบกับพื้นที่ของ กทม.ทั้งหมด ประโยชน์ที่ได้ไม่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป “ได้ไม่คุ้มเสีย” หอฟอกอากาศและรถฉีดน้ำช่วยประชาชนในด้านจิตวิทยามากกว่าด้านสุขภาพ
ผมอยากให้ดูตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ ประเทศที่ร่ำรวยกว่าเรา เวลามีภาวะฝุ่น PM2.5 ขึ้นสูงมาก เนื่องจากควันป่าจากประเทศอินโดนีเชียลอยมาปกคลุมประเทศสิงคโปร์ทุกปี ปีละ 2-4 สัปดาห์ คนสิงคโปร์ยอมรับภาวะฝุ่น PM2.5 เกิดขึ้นทุกปีระยะสั้น ปรับตัว ไม่ตื่นกลัว แต่ตื่นตัว เพราะรู้ว่าอีกไม่นานฝุ่น PM2.5 ก็จะลดลงเอง สื่อมวลชนของเขาก็ไม่สร้างความหวาดกลัวให้ประชาชน อันตรายของฝุ่น PM2.5 ในระยะสั้นทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ไม่ได้สูงมากอย่างที่มีคนกล่าวอ้าง สูบบุหรี่มวนยังอันตรายมากกว่า เขาไม่ติดตั้งหอฟอกอากาศ ไม่มีการฉีดน้ำจากรถฉีดน้ำ พ่นละอองน้ำจากใต้สะพานลอยหรือตึกสูง คนส่วนใหญ่จะอยู่ในบ้านช่วงที่ค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานมากๆ ใส่หน้ากากอนามัยเวลาออกนอกบ้าน บางคนใส่หน้ากาก N95 ประเทศสิงคโปร์ขอความร่วมมือ และกดดันประเทศอินโดนีเชียให้ลดการเผาป่า เผาไร่ เพื่อลดแหล่งกำเนิดของฝุ่น PM2.5
ประเทศไทยมีทรัพยากรจำกัด ควรจัดการที่ต้นกำเนิดของมลพิษทางอากาศ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากรถที่ใช้น้ำมันดีเซล จากการเผาในที่โล่ง จากโรงงานอุตสาหกรรม จากการก่อสร้าง จะคุ้มค่ามากกว่านำเงินไปใช้ในการติดตั้งหอฟอกอากาศ ซื้อรถพ่นละอองน้ำ ติดตั้งหัวฉีดพ่นละอองน้ำประปาจากใต้สะพานลอยและจากตึกสูงเพื่อดักจับละอองฝุ่น PM2.5