นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุม ครม.เศรษฐกิจ เห็นชอบในหลักการกรอบแนวทางการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมครบวงจร 7 ด้าน 13 มาตรการ เพื่อสนับสนุน SME รายย่อย และแก้ปัญหาสำคัญของ SME
วันนี้ (1 พ.ย.62) เวลา 09.30 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ครั้งที่ 6/2562 ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยภายหลังการประชุม นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กรรมการและเลขานุการ ครม.เศรษฐกิจ ได้แถลงผลการประชุม สรุปสาระสำคัญดังนี้
ครม.เศรษฐกิจมีมติเห็นชอบในหลักการกรอบแนวทางการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมครบวงจร รวม 7 ด้าน 13 มาตรการ หรือมาตรการ MSME 2020 ตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เสนอ เพื่อสนับสนุน SME รายย่อย และแก้ 5 ปัญหาสำคัญของ SME ทั้งปัญหาแหล่งเงินทุน ความรู้/ทักษะ/การบริหาร การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด และฟื้นฟูกิจการ โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป สำหรับกรอบแนวทางการพัฒนาวิสาหกิจฯ ทั้ง 7 ด้าน รวม 13 มาตรการ มีดังนี้
พร้อมกันนี้ ครม.เศรษฐกิจ มีมติรับทราบโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการที่ดีที่สุด โดยปัญหาของรถไฟฟ้าสายสีเขียวคือมีการเดินรถหลายช่วง มีผู้ลงทุนหลายราย หากไม่มีการบริหารจัดการที่เหมาะสม จะทำให้ผู้ใช้บริการสายสีเขียวต้องขึ้นและลงตลอดสายรวม 3 ครั้ง จะทำให้มีค่าโดยสารรวมประมาณ 150 กว่าบาท โดยช่วงที่ผ่านมาได้มีคำสั่งตามมาตรา 44 ให้ไปดำเนินการประสานงานเพื่อลดค่าใช้จ่าย และสร้างความสะดวกให้กับประชาชน ซึ่งในที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจวันนี้ กรุงเทพมหานครและกระทรวงมหาดไทย ได้รายงานผลการดำเนินการต่อ ครม.เศรษฐกิจ โดยครม.เศรษฐกิจ มีมติรับทราบผลการดำเนินการและอุปสรรค เช่น เรื่องขั้นตอนการทำ EIA ในช่วงสะพานตากสิน รวมทั้งแนวทางการแก้ไขปรับปรุง ซึ่งจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป
นอกจากนี้ ครม.เศรษฐกิจมีมติรับทราบสถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุด ในไตรมาสที่ 3 ของปี ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2562 โดยเมื่อดูตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาจากธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อวานนี้ จะเห็นว่าการบริโภคภาคเอกชนแผ่วลงเล็กน้อย เนื่องจากการซื้อสินค้าคงทนโดยเฉพาะรถยนต์ ชะลอตัวลงจากการที่ผู้บริโภครอรถรุ่นใหม่ ทำให้ยอดขายรถยนต์ในเดือนกันยายนลดลง ส่งผลกระทบทำให้ดัชนีการบริโภคสินค้าคงทนลดลงไปพอสมควร แต่ถือเป็นข้อดีคือเมื่อรถรุ่นใหม่ออกมาในไตรมาสที่ 4 จะทำให้ยอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบกับดัชนีผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงในเดือนกันยายนเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ต้องรอการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 จากนั้น ครม.เศรษฐกิจจะประชุมประมาณวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 เพื่อประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจตลอดปี 2562 และปี 2563 หากตัวเลขไม่เป็นไปตามกรอบคือ 2.7 – 3.2 ก็จะได้มีการหารือถึงมาตรการเศรษฐกิจที่จะดำเนินการในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2562 ต่อไป