นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ (John Hopkins University และ Nuclear Threat Initiative) ได้นำเสนอผลการวิจัยระดับความเข้มแข็งด้านความมั่นคงด้านสุขภาพ (Health Security) ของทุกประเทศทั่วโลก ในการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก (Global Health Security Agenda (GHSA) Steering Group Meeting) ณ สำนักงานคณะผู้แทนถาวรราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ประจำสหภาพยุโรป กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 โดยประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งด้านความมั่นคงด้านสุขภาพเป็นอันดับที่ 6 จากทั้งหมด 195 ประเทศ เป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศเดียวที่ถูกจัดให้อยู่ใน 10 อันดับสูงสุด (Top 10) ของโลก และเป็นอันดับ 1 ในเอเชียด้วยคะแนน 73.2 จาก 100 คะแนน ทำให้ได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศที่มีความพร้อมในการรับมือต่อการระบาดของโรคมากที่สุด ซึ่งมีเพียง 13 ประเทศทั่วโลกเท่านั้น นับเป็นความภาคภูมิใจของไทยเป็นอย่างมากที่มีระบบการป้องกันและควบคุมโรคที่เข้มแข็งเป็นที่ยอมรับในระดับโลก
นายอนุทินกล่าวต่อว่า การประชุมครั้งนี้ ได้มอบหมายให้นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม ซึ่งมีวาระการประชุมที่สำคัญคือการกำหนดบทบาทเชิงยุทธศาสตร์ของคณะทำงานขับเคลื่อนวาระความความมั่นคงด้านสุขภาพโลกเพื่อให้บรรลุเป้าหมายแผนการดำเนินงาน 5 ปีของวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก (พ.ศ. 2562- 2567) โดยที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับรัฐมนตรีของ GHSA ในปี 2563 และเป็นประธานคณะทำงานขับเคลื่อน GHSA ในปี 2564 ซึ่ง GHSA เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2557 เพื่อยกระดับการเฝ้าระวังโรคระบาดให้เข้มแข็งผ่านยุทธศาสตร์การป้องกัน การเฝ้าระวังและการตอบโต้โรคที่มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 60 ประเทศ
ทั้งนี้ 10 อันดับประเทศที่มีความเข้มแข็งด้านความมั่นคงด้านสุขภาพ (Health security) อันดับ 1 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 83.5 คะแนน 2. สหราชอาณาจักร 77.9 คะแนน 3. เนเธอร์แลนด์ 75.6 คะแนน 4. ออสเตรเลีย 75.5 คะแนน 5. แคนาดา 75.3 คะแนน 6. ไทย 73.2 คะแนน 7. สวีเดน 72.1 คะแนน 8. เดนมาร์ก 70.4 คะแนน 9. เกาหลีใต้ 70.2 คะแนน 10.ฟินแลนด์ 68.7 คะแนน โดยการจัดอันดับนี้วัดจาก 6 ด้าน ได้แก่ 1.การป้องกันโรค 2.ความสามารถในการตรวจจับโรคและรายงานที่รวดเร็ว 3.การตอบโต้ที่รวดเร็ว 4.มีระบบสุขภาพที่เข้มแข็ง 5.มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาศักยภาพของประเทศ มีแผนงบประมาณด้านป้องกันควบคุมโรคและดำเนินงานตามแนวปฏิบัติสากล และ 6.มีความเสี่ยงต่อภัยคุกคามด้านชีวภาพต่ำ โดยมีคะแนนเฉลี่ยของโลกเท่ากับ 40.2 จาก 100 คะแนน ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญให้กับคณะทำงานขับเคลื่อน GHSA ในการวางแผนสนับสนุนการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพโลกของประเทศสมาชิกให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น