นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังมอบนโยบายในการควบคุมกำกับวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 แก่พนักงานเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตร จำนวน 300 คนทั่วประเทศ ว่า การประชุมมอบนโยบายในวันนี้ เพื่อชี้แจงแนวทางในการลงพื้นที่และการดูแลประชาชนและเกษตรกรในการส่งคืน 3 สารเคมี ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต ตามคำสั่งกรมวิชาการเกษตร ลงวันที่ 28 ต.ค. 62 ให้ผู้ที่มีวัตถุอันตราย “พาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต” ที่อยู่ในความครอบครอง แจ้งปริมาณการมีไว้ในครอบครองภายใน 15 วัน นับแต่ประกาศกำหนดให้วัตถุอันตรายดังกล่าว เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ห้ามมิให้มีการผลิต นำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือมีไว้ครอบครอง) มีผลบังคับใช้ ตลอดจนให้ส่งมอบวัตถุอันตรายดังกล่าวที่มีในครอบครองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่แจ้งปริมาณการครอบครอง โดยให้แจ้งและส่งมอบที่สำนักควบคุมพืชและวัสดุเกษตร หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัด เขต 1-8 โดยสารวัตรเกษตรจะต้องสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ตรงกัน เพื่อดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเร่งสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ
ให้รับทราบ ถึงการครอบครองสารดังกล่าวก่อนจะมีผลแบนสารตามวันที่กำหนด
ทั้งนี้ ในวันที่ 25 พ.ย. 62 จะประชุมร่วมกับสหกรณ์จังหวัด ทั้ง 17 จังหวัด เพื่อมาร่วมรับฟังแนวทางและสร้างความเข้าใจแก่เกษตรกรให้ทั่วถึง ตลอดจนประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อขอความร่วมมือให้ชี้แจงแนวทางปฏิบัติกับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โดยสิ่งสำคัญคือจะต้องไม่มีเกษตรกรถูกจับกุมในข้อหามีสารเคมีดังกล่าวไว้ในครอบครอง อย่างไรก็ตามจากการลงพื้นที่ได้รับทราบว่ามีร้านค้าหลายแห่งเริ่มมีการขายสารดังกล่าวแบบลดแลกแจกแถมเพื่อดึงดูดให้เกษตรกรซื้อ ซึ่งเกษตรกรที่ทราบข่าวก็ได้ปฏิเสธไป ทั้งนี้สารวัตรเกษตรจะต้องสอบถามเกษตรกรถึงแหล่งที่มาว่าได้มาอย่างไรด้วย ในส่วนของการเยียวยาเกษตรกรนั้นจะอยู่ในมาตรการที่ต้องพิจารณาต่อไป ยืนยันว่าทุกกอย่างต้องดำเนินการภายใต้กฎหมาย
“ส่วนกรณีที่จะมีเกษตรกรซึ่งได้รับผลกระทบจากการยกเลิกสารเคมี 3 ชนิดจะแต่งชุดดำรวมตัวไปเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีนั้น ไม่ได้สร้างความกดดันแต่อย่างใด ก็ขอให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย อย่างไรก็ตามยืนยันว่าจะเดินหน้าตามนโยบายที่ได้วางไว้แต่แรก ที่จะให้มีการแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ให้มีผลวันที่ 1 ธ.ค. นี้ โดยในวันที่ 27 พ.ย. นี้ จะมีการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งจะมีมติอย่างไรก็ต้องติดตามต่อไป” นางสาวมนัญญา กล่าว
สำหรับมาตรการปฏิบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรหลังจากประกาศกำหนดให้วัตถุอันตรายดังกล่าวเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 นั้น จะมีการตรวจสอบการนำเข้าเพื่อป้องกันการลักลอบ ณ ด่านตรวจพืช รวมทั้งเข้าตรวจสอบสถานประกอบการทั้งผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ผู้จำหน่าย ร้านค้า และผู้ที่มีไว้ครอบครองหากพบการกระทำผิดให้ดำเนินการตามกฎหมาย ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท