หลักเกณฑ์และวิธีการโอนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ระหว่างส่วนราชการ ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
(ส่งพร้อมหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.2/ว13 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562)
เพื่อให้การดำเนินการโอนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ระหว่างส่วนราชการ ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นผลดีแก่ทางราชการ อาศัยอำนาจตามมาตรา 19 (4) มาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560ลงวันที่ 3 เมษายน 2560 ข้อ 8 (1)
ก.ค.ศ. จึงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการโอนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาระหว่างส่วนราชการ ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ไว้ดังนี้
1. ตามหลักเกณฑ์และวิธีการนี้การโอน หมายถึง การแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูรองผู้อำนวยการสถานศึกษา ผู้อำนวยการสถานศึกษา และศึกษานิเทศก์ ของส่วนราชการหนึ่งไปดำรงตำแหน่งเดิม สังกัดส่วนราชการอื่น ในกระทรวงศึกษาธิการ
2. ให้ผู้ประสงค์ขอโอน เสนอคำร้องตามแบบที่ ก.ค.ศ. กำหนด ต่อส่วนราชการที่สังกัด เพื่อพิจารณาและส่งคำร้องให้ส่วนราชการอื่นที่ขอโอนไป
2.1 การโอนไปสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ส่งคำร้องถึงเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา หรือปลัดกระทรวงศึกษาธิการ หรือเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชน
หรือเลขาธิการ กศน. แล้วแต่กรณี
2.2 การโอนไปสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ส่งคำร้องถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา หรือผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา แล้วแต่กรณี
3.การโอนไปสังกัดส่วนราชการตามข้อ 2.1 ให้หัวหน้าส่วนราชการพิจารณา หากมีอัตราว่างที่มีอัตราเงินเดือน และมิใช่เป็นตำแหน่งที่รอการเลิกหรือยุบ หรือตำแหน่งที่มีเงื่อนไขตามที่คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) กำหนด หรือตำแหน่งที่สงวนไว้ และประสงค์จะรับโอน ให้เสนออ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง พิจารณา
4.การโอนไปสังกัดส่วนราชการตามข้อ 2.2 ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา หรือผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา แล้วแต่กรณี เป็นผู้พิจารณา หากมีอัตราว่าง ที่มีอัตราเงินเดือน และมิใช่เป็นตำแหน่งที่รอการเลิกหรือยุบ หรือตำแหน่งที่มีเงื่อนไขตามที่คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) กำหนด หรือตำแหน่งที่สงวนไว้ และประสงค์จะรับโอน ให้เสนอ กศจ. พิจารณา
5.การพิจารณารับโอน ให้พิจารณาข้อมูลของผู้ขอโอนตามเอกสารหลักฐานและเงื่อนไขตามแบบคำร้องขอโอนที่ ก.ค.ศ. กำหนด โดยคำนึงถึงปริมาณงานของสถานศึกษา เหตุผลความจำเป็นความต้องการและประโยชน์ที่ทางราชการจะได้รับ และกำหนดรายละเอียดประกอบการพิจารณาได้ตามความเหมาะสม
6.กรณีผู้มีอำนาจตามมาตรา 53 พิจารณาแล้วไม่รับโอน คำร้องนั้นให้ยกเลิกและแจ้งให้ส่วนราชการต้นสังกัดของผู้ขอโอน ทราบ
7.กรณีผู้มีอำนาจตามมาตรา 53 พิจารณาแล้วรับโอน ให้ออกคำสั่งรับโอนมาบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเดิม วิทยฐานะและอัตราเงินเดือนเท่าเดิม และจัดส่งสำเนาคำสั่งพร้อมบัญชีรายละเอียดการรับโอน จำนวน 1 ชุด ให้สำนักงาน ก.ค.ศ. ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ออกคำสั่ง
8. การโอนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ ให้ อ.ก.ค.ศ.ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง หรือ กศจ. แล้วแต่กรณี พิจารณา หากเห็นว่าสมควรรับโอน ให้เสนอ ก.ค.ศ. พิจารณา
9. การรับโอน ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการนี้อย่างเคร่งครัด หากภายหลังตรวจสอบพบว่ามีการดำเนินการไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ หรือมีการดำเนินการโดยมิชอบใด ๆ ให้แก้ไขหรือยกเลิกคำสั่งนั้น
10. กรณีที่ไม่สามารถดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ได้ ให้เสนอ ก.ค.ศ. พิจารณา
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม...