โรงเรียนราชินี เป็นโรงเรียนเก่าแก่ที่สร้างขึ้นจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ตึกแถวมุมถนนอัษฎางค์ และถนนจักรเพชรต่อกัน และได้เริ่มสอนเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2447
โดยมีพระประสงค์ให้เป็นสถานที่สำหรับสตรีไทยได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ สามารถอ่านออกเขียนได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมทั้งมีความชำนาญทางการช่างฝีมือที่สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ มีการอบรม ศีลธรรม จรรยาและมารยาท เพื่อยกระดับสตรีไทยให้พรั่งพร้อมไปด้วยความรู้ความสามารถอย่างรอบด้าน
เมื่อมีการเปิดสอนไปสักระยะก็ได้ย้ายบ้านใหม่มาอยู่ที่ "ตึกสุนันทาลัย" ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นที่ตั้งจนถึงปัจจุบัน
โรงเรียนราชินี มีอายุครบ 108 ปี ไปเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2555 ที่ผ่านมา ดังนั้น "ชมรมนักเรียนเก่าราชินี" จึงเปิดประตูรั้ว น้ำเงินและสีชมพู ให้คนภายนอกได้สัมผัสถึงบรรยากาศภายในโรงเรียนเก่าแก่แห่งนี้
รศ.อรุณีประภา หอมเศรษฐี ที่ปรึกษาชมรมนักเรียนเก่าราชินีและประธานที่ปรึกษาการจัดงาน เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการนำชมสถานที่สำคัญต่างๆ ในโรงเรียน รวมทั้งการเรียนการสอนที่ยังคงเอกลักษณ์ไว้เหมือนเมื่อครั้งวันวาน อย่าง การร้อยมาลัย การปักสะดึงกลึงไหม เป็นต้น
อาคารสุนันทาลัย เป็นอาคารทรงคุณค่าหลังหนึ่งของโรงเรียน ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยาม ประจำปี 2525 ด้วยสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก มีอายุกว่า 132 ปี การประดับตกแต่งภายในมีความงดงาม ลวดลายบนบานหน้าต่าง หรือบานประตูแต่ละบานล้วนสอดรับกันเป็นอย่างดี ตัวอาคารทาด้วยสีเหลืองอ่อน ด้านหน้าอาคารซึ่งหันหน้าเข้าหาแม่น้ำเจ้าพระยามีมุขรูปมงกุฎยื่นออกมา ประดับด้วยลวดลายปูนปั้น ส่วนยอดประดับด้วยปูนปั้นเป็นรูปตราแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 5 มีประตูใหญ่ ออกมาสู่มุขที่เป็นเฉลียงรูปโค้ง ซุ้มประตูทำเป็นรูปโค้งรองรับด้วยเสาโครินเธียน
นอกจากนี้ยังมีการจำลองบรรยากาศห้องรับประทานอาหารของนักเรียนโรงเรียนราชินีในอดีต มีมุมแสดงอุปกรณ์การเรียนการสอนสมัยโบราณ เช่น โต๊ะเรียนจากประเทศอังกฤษ และโต๊ะทอง สำหรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดีและนักเรียนทุน และเครื่องแบบนักเรียนโรงเรียนราชินีในสมัยรัชกาลที่ 5
ม.ล.ประทิ่นทิพย์ นาครทรรพ ผู้จัดการโรงเรียนราชินี เล่าความเป็นมาของโรงเรียนว่า สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจ้างครูจากประเทศญี่ปุ่น 3 คน มาสอนภาษาอังกฤษ คำนวณ วิทยาศาสตร์ วาดเขียน เย็บปัก และการประดิษฐ์ดอกไม้แห้ง โดยมีมิสเทตสุ ยาซูอิ เป็นอาจารย์ใหญ่ และได้ทรงจ้างสตรีไทยมาเป็นครูสอนภาษาไทยและการตัดเย็บเสื้อผ้าอีก 1 คน
"ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2448 ได้มีการเปิดรับนักเรียนกินนอนขึ้น จากนั้นสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตย้ายโรงเรียนมาอยู่ที่อาคารสุนันทาลัย ถนนมหาราช แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา จนถึงปัจจุบัน" ม.ล.ประทิ่นทิพย์บอกและบอกอีกว่า จุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์การศึกษาสตรีไทยในยุคแรกเริ่ม นักเรียนที่จบการศึกษาจากโรงเรียนราชินีได้ออกไปรับราชการในราชสำนัก ต่อมาเมื่อมีการเปิดโอกาสให้สตรีสามารถศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้ ส่งผลให้มีนักเรียนจากโรงเรียนราชินีเข้าเป็นนิสิตหญิงรุ่นแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ถึง 3 ใน 4 ของจำนวนนิสิตหญิงแรกเข้า และนักเรียนจากโรงเรียนราชินีสามารถสอบเข้าเรียนในสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง โรงเรียนราชินีจึงถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างแท้จริงในการพัฒนาการศึกษาของสตรีไทย เป็นการช่วยยกระดับสถานะของสตรีไทยให้เท่าเทียมกับบุรุษ
ผู้จัดการโรงเรียนราชินีกล่าวว่า โรงเรียนราชินีนั้นนับเป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่บุกเบิกการสอนในหลายวิชา อาทิ การประดิษฐ์ดอกไม้แห้ง การแสดงละครนักเรียน การจัดทำนิตยสารประจำโรงเรียนเพื่อส่งเสริมนักเรียนด้านการเขียนร้อยแก้วและร้อยกรอง และยังเป็นโรงเรียนแรกที่มีนโยบายให้นักเรียนฝากเงินกับคลังออมสิน รวมทั้งเป็นโรงเรียนแรกที่จัดตั้งหน่วยอนุกาชาด เพื่อปลูกฝังคุณธรรมในใจและอุทิศตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น
เพื่อให้ศิษย์เก่าทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงความทรงจำเมื่อครั้งยังเรียนอยู่ที่โรงเรียน รวมทั้งเป็นการคืนสู่เหย้าชาวโรงเรียนราชินี ทางชมรมนักเรียนเก่าราชินีจึงจัดงาน "พิกุลแก้ว...สู่สวนขวัญ 108 ปี โรงเรียนราชินี" ในวันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม 2555 ตั้งแต่เวลา 08.30-21.30 น. นอกจากจะเป็นการคืนสู่เหย้าแล้ว ยังเพื่อให้ศิษย์เก่าทุกคนมาร่วมกราบคารวะครูบาอาจารย์ที่ได้เคยประสิทธิ์ประสาทวิชา และเพื่อหาทุนช่วยเหลือครูเกษียณและครูอาวุโส
อ้อยทิพย์ เหราบัตย์ ประธานชมรมนักเรียนเก่าโรงเรียนราชินี นักเรียนเก่า รุ่น 75 เล่าถึงกิจกรรมภายในงานว่า ภายในงานจะเชิญนักเรียนเก่ามาร่วมทำบุญตักบาตร และร่วมกันแสดงมุทิตาจิตแด่คุณครูที่เคยประสิทธิ์ประสาทวิชา ซึ่งจุดเด่นของงานในครั้งนี้ คือ "นิทรรศการ 4 มิติ ณ อุทยานประวัติศาสตร์และความภูมิใจ" ซึ่งมีกำหนดจัดตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 2 ธันวาคม ภายในนิทรรศการจะถูกแบ่งเป็น 4 ห้องคือ ห้องแรกจัดแสดงนิทรรศการทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวประวัติความเป็นมาของโรงเรียนราชินี, ห้องที่ 2 เป็นห้อง 4 มิติ แสดงถึงประวัติศาสตร์ของโรงเรียนราชินีในอดีต ห้องที่ 3 จะแสดงประวัติศาสตร์โรงเรียนราชินีที่ก้าวมาถึงปัจจุบัน และห้องที่ 4 จัดแสดงเสื้อผ้าชุดนักเรียนสมัยรัชกาลที่ 5
ไม่เท่านั้น ภายในงานยังจะมีกิจกรรมและเกมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชาวโรงเรียนราชินีใน อุทยานการละเล่นและความทรงจำ คือ จะเป็นเกมที่นักเรียนโรงเรียนราชินีจะรู้จักกันเป็นอย่างดี เช่น ปามะม่วงยายแห ร่อนกระทะ ม.ล.มาลี
"ที่มาของ เกมปามะม่วงยายแห คือ สมัยก่อนยายแหเป็นคนงานของโรงเรียนที่ดูแลต้นมะม่วงเพื่อเก็บผลไปขาย นักเรียนซนมาก จะแกล้งยายแหโดยเอารองเท้าแตะไปปายายแห หรืออย่าง เกมร่อนกระทะ ม.ล.มาลี ท่านเป็นคุณครูสอนทำกับข้าวที่เวลาโมโหหรือไม่ถูกใจนักเรียนท่านจะร่อนจานใส่ร่อนกระทะใส่ เราจะทำเป็นแมสคอตน้องพิกุล แล้วทำเป็นช่องไว้สำหรับร่อนจานหรือกระทะเข้าช่องไป จะเป็นความสนุกสนานที่มีเฉพาะภายในอุทยานการละเล่นของนักเรียนโรงเรียนราชินีเท่านั้น" อ้อยทิพย์อธิบาย
โรงเรียนราชินีมีความเป็นมาและประวัติศาสตร์ที่ล้วนเป็นความภาคภูมิใจแก่นักเรียนปัจจุบันและศิษย์เก่าทุกคน คุณงามความดีของโรงเรียนยังคงปรากฏอยู่บนหน้าประวัติศาสตร์แม้เวลาจะก้าวล่วงมาจนถึง 108 ปี แล้วก็ตาม...
หน้า 20,มติชนรายวัน ฉบับวันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน 2555
ข้อมูลจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เวลา 11:02:57 น.