โรงพยาบาลปัตตานี พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน นำเทคโนโลยีปฐมพยาบาลแบบออนไลน์ สั่งการทันทีดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินและวิกฤต ณ จุดเหตุ ได้ครอบคลุม 80% ของพื้นที่ ผู้ป่วยปลอดภัย ลดการเสียชีวิต ลดความพิการ
วันนี้ (20 มกราคม 2563) ที่ จ.ปัตตานี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานระบบการแพทย์ฉุกเฉินและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลปัตตานี ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ และให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายให้โรงพยาบาลพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน รองรับผู้ป่วยอุบัติเหตุ ฉุกเฉิน เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและความพิการ โดยที่ จ.ปัตตานี เป็นพื้นที่เกิดเหตุการณ์ไม่สงบบ่อยครั้ง ได้พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินและวิกฤตครบวงจร แบบเบ็ดเสร็จ( One stop service)ร่วมกับเครือข่ายบริการสุขภาพทั้งจังหวัด สามารถให้บริการ ณ จุดเกิดเหตุครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 80 ของจังหวัด
ทั้งนี้ ในการจัดระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลปัตตานี ได้จัดทำแผนรองรับสถานการณ์อุบัติภัยหมู่ ครอบคลุมตั้งแต่รับแจ้งที่ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ ออกปฏิบัติการฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ โดยนำเทคโนโลยีปฐมพยาบาลแบบออนไลน์ เสมือนอยู่ในเหตุการณ์จริงช่วยวินิจฉัยโรคเบื้องต้น บรรเทาอาการของผู้บาดเจ็บก่อนถึงโรงพยาบาล ทำให้รักษาเบื้องต้นได้ทันท่วงที โดยมีบุคลากรผ่านการประเมินจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินทั้งหมด อาทิ แพทย์ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน พยาบาลและเจ้าหน้าที่ รวมทั้งกู้ชีพกู้ภัยจากเครือข่ายทั้งจังหวัด กว่า 3,000 คน และมีแผนเพิ่มอัตรากำลังตามปริมาณผู้ป่วย เพื่อให้บริการ ณ จุดเกิดเหตุครอบคลุมพื้นที่ครบ 100%ต่อไป
สำหรับระบบการให้บริการในโรงพยาบาล ได้จัดทำระบบการคัดกรองผู้ป่วยเป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อให้การดูแลรวดเร็วตามความเร่งด่วน มีคลังสำรองเลือด เตรียมยา เวชภัณฑ์ เตียงรับผู้ป่วยและห้องผ่าตัดอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ทันสมัยและได้มาตรฐาน อาทิ เครื่องดมยาสลบ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เครื่องเอกซเรย์ฟลูโอโรสโคปี้ (Fluoroscopy)สามารถค้นหาวัตถุในร่างกาย นอกจากนี้ ยังมีทีมดูแลด้านจิตใจ ทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟู ที่ให้คำแนะนำ บำบัด ดูแล เยียวยา ทั้งร่างกายและจิตใจ ให้การดูแลได้ทันทีไม่ต้องส่งต่อไปรักษาที่อื่น
“ขอชื่นชมโรงพยาบาลปัตตานี ที่ร่วมกับท้องถิ่น เอกชน พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินครอบคลุมเกือบทั้งจังหวัด สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินและวิกฤต ให้มีความปลอดภัยและมีอัตราการรอดชีวิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากสถานการณ์ ”ดร.สาธิตกล่าว
ทั้งนี้ โรงพยาบาลปัตตานี เป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาด 504 เตียง ให้บริการสาธารณสุข ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาพยาบาล และการฟื้นฟู ดูแลประชาชนในพื้นที่มากกว่า 700,000 คน มีผู้ป่วยนอกเฉลี่ยวันละ 1,600 ราย ผู้ป่วยในเฉลี่ยวันละ 500 ราย และมีผู้ป่วยผ่าตัด 11,000 รายต่อปี โดยในปี 2567 เตรียมก่อสร้างตึก 7 ชั้น บริการห้องฉุกเฉินคุณภาพ ห้องผ่าตัด และหอผู้ป่วยวิกฤต ให้บริการที่เบ็ดเสร็จในตึกเดียว สามารถส่งต่อผู้ป่วยจากห้องฉุกเฉินไปยังห้องผ่าตัด หอผู้ป่วยหนัก หอผู้ป่วยสามัญได้อย่างรวดเร็ว