บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน ที่หลายคนทั้งรักทั้งเกลียด กำลังจะเปิดให้ลงทะเบียนรอบใหม่เร็วๆ นี้ แต่ผู้ที่มีบัตรคนจนอยู่แล้ว อาจร้อนๆ หนาวๆ เพราะภาครัฐจะมีการตรวจสอบคุณสมบัติย้อนหลังของผู้ถือบัตรคนจน ส่วนจะมีรายละเอียดเบื้องต้นอย่างไรบ้าง ติดตามได้ที่นี่!
ล่าสุด นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายละเอียดเบื้องต้น ดังต่อไปนี้
ปรับเกณฑ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐใหม่หรือไม่?
• คำตอบ คือ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่นี้ จะมีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์การคัดเลือกผู้มีรายได้น้อยให้ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอย่างรัดกุม ละเอียดถี่ถ้วน
จากเดิม เงื่อนไขในการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คือ เป็นผู้ว่างงาน หรือมีรายได้ส่วนบุคคลไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี แต่สำหรับการลงทะเบียนรอบใหม่นี้ นายอุตตม ระบุว่า จะพิจารณาจากรายได้รวมทั้งครอบครัว หารด้วยจำนวนสมาชิกในครอบครัว ซึ่งต้องไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี
- ยกตัวอย่างเช่น ครอบครัว A มีสมาชิกในครอบครัว จำนวน 4 คน ผู้เป็นพ่อสามารถหารายได้ 400,000 บาทต่อปี ส่วนคนอื่นๆ ในครอบครัวไม่มีรายได้
วิธีคิด คือ รายได้พ่อ 400,000 บาท หารด้วยจำนวนสมาชิกในครอบครัว 4 คน = 100,000 บาท
ย่อมเท่ากับว่า ครอบครัว A มีสิทธิ์ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
- ยกตัวอย่างเช่น ครอบครัว B มีสมาชิกในครอบครัว จำนวน 4 คน ผู้เป็นพ่อสามารถหารายได้ 200,000 บาทต่อปี, ลูกชาย สามารถหารายได้ 300,000 บาทต่อปี
วิธีคิด คือ รายได้พ่อและลูกชาย 500,000 บาท หารด้วยจำนวนสมาชิกในครอบครัว 4 คน = 125,000 บาท ย่อมเท่ากับว่า ครอบครัว B ไม่มีสิทธิ์ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
- นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุด้วยว่า เกณฑ์การพิจารณาในรูปแบบใหม่นั้น ทำเพื่อแก้ไขปัญหาผู้ที่ไม่มีรายได้หรือรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด แต่กลับมีฐานะดี เนื่องจากได้รับการเลี้ยงดูจากลูกหลาน หรือบุคคลอื่นในครอบครัว
ผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอยู่แล้ว จะต้องยืนยันตัวตนใหม่หรือไม่?
• คำตอบ คือ นายอุตตม กล่าวว่า ในเร็วๆ นี้จะการดำเนินการตรวจสอบผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐย้อนหลัง (จำนวน 14.5 ล้านคน) ว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ หากพบว่ารายได้เพิ่มขึ้นและเกินเกณฑ์ 100,000 บาทต่อปี จะต้องถูกตัดสิทธิ์
สิทธิ์ของผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ยังเหมือนเดิมหรือไม่?
• คำตอบ คือ สวัสดิการที่ผู้มีรายได้น้อยจะได้รับจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้น ยังได้รับสิทธิ์ในการช่วยเหลือในด้านต่างๆ เช่นเดิม ดังนี้
- วงเงินซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภค คนละ 200-300 บาทต่อเดือน
- วงเงินซื้อก๊าซหุงต้ม 45 บาทต่อ 3 เดือน
- ค่าโดยสารรถเมล์ รถไฟฟ้า 500 บาทต่อเดือน
- ค่าโดยสารรถ บขส. 500 บาทต่อเดือน
- ค่าโดยสารรถไฟ 500 บาทต่อเดือน
- ค่าน้ำประปาไม่เกิน 100 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน
- ค่าไฟฟ้าไม่เกิน 230 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน
ข้อมูลจาก ไทยรัฐออนไลน์