กระทรวงสาธารณสุขเผย ผู้ป่วยยืนยันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อนุญาตให้กลับบ้านเพิ่มอีก 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 45 ปี รวมขณะนี้มีผู้ป่วยหายป่วยแพทย์ให้กลับบ้านรวม 15 ราย เตรียมนับถอยหลัง 3 วันส่งคนไทยจากอู่ฮั่นกลับบ้านมั่นใจทุกคนปลอดภัยสุขภาพแข็งแรง
นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงความคืบหน้าสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า วันนี้มี ผู้ป่วยยืนยันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หายดี กลับบ้านได้อีก 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 45 ปี ที่มีประวัติสัมผัสนักท่องเที่ยว รวมขณะนี้มีผู้ป่วยหายป่วยและแพทย์
ให้กลับบ้านรวมเป็น 15 ราย ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มเติม ส่วนรายล่าสุดที่เป็นบุคลากรจากโรงพยาบาลเอกชนขณะนี้ได้รักษาไว้ที่ห้องแยกสถาบันบำราศนาดูร ส่วนบุคลากรโรงพยาบาลในกลุ่มเดียวกันจำนวน 23 คน เข้าระบบการเฝ้าระวังตั้งแต่ต้น ผลไม่มีไข้
อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อในบุคลากรสามารถพบได้ ในขณะนี้มีหลายประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น อังกฤษ ฝรั่งเศสและประเทศไทย เป็นต้น ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุข ได้กำชับให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกระดับ ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อจากผู้ป่วยอย่างเคร่งครัดโดยในวันพรุ่งนี้จะมีการประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอ เพื่อเน้นย้ำให้ทุกโรงพยาบาลควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล
สำหรับคนไทยกลับบ้านที่ฐานทัพเรือสัตหีบ ทุกคนสบายดี ไม่มีไข้ และไม่มีผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคเพิ่ม ครบกำหนดเฝ้าระวังวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 โดยในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 จะเริ่มทยอยกลับบ้าน ได้มีการประสานเตรียมการนัดหมายกับญาติทั้งที่จะมารับที่เรือนพักรับรองและที่จะเดินทางต่อ ขอให้มั่นใจว่ากระทรวงสาธารณสุขได้ดูแลอย่างดีที่สุดและมีระบบติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ทุกคนจะได้รับคู่มือการปฏิบัติตัวร่วมทั้งอุปกรณ์ป้องกันโรค เช่น หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ คนไทยกลับบ้านกลุ่มนี้สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติยืนยันไม่ใช่ผู้ป่วย
นอกจากนี้ได้มีการติดเชื้อในชุมชนเกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ประเทศไทยจึงได้เข้มมาตรการคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากประเทศดังกล่าวทุกช่องทาง และเข้มมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จัดอบรมให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านช่วยกันเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของโรค ถ่ายทอดความรู้ สู่ครอบครัว บุคคลใกล้ชิด และชุมชน เป็นเกราะป้องกันตนเอง ลดการระบาดของโรคฯ ในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ ยึดหลัก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพแข็งแรง
กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงเข้มมาตรฐานการคัดกรองผู้เดินทางทั้งทางบก เรือ อากาศ มาอย่างต่อเนื่อง สำหรับกรณีเรือสำราญ Westerdam ซึ่งทางรัฐบาลไทยตัดสินไม่ได้อนุญาตให้เทียบท่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องเพราะคำนึงถึงสุขภาพคนไทยเป็นหลัก ทั้งนี้ได้มีการประสานข้อมูลผู้โดยสารเรือสำราญลำนี้ทั้งลำส่งให้กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อร่วมมือในการเฝ้าระวัง โดยวันนี้มี ผู้เดินทางเข้าประเทศมาที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพิ่มอีก 35 เป็นชาวต่างชาติ 34 ราย เพื่อต่อเครื่องบินไปยังประเทศปลายทางอื่น และเป็นคนไทย 1 ราย ทุกคนได้รับการตรวจคัดกรองไม่มีไข้ สำหรับคนไทยที่เดินทางเข้าประเทศจะมีการดูแลติดตามเฝ้าระวังตาม มาตรฐานป้องกันควบคุมโรค รวมแล้วขณะนี้มีคนไทยจากเรือสำราญดังกล่าว 2 คน ทุกคนไม่มีไข้ จะต้องมีการติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องจนครบ 14 วัน
- ตั้งแต่วันที่ 3 – 23 มกราคม 2563 ได้เฝ้าระวังคัดกรองผู้โดยสารเที่ยวบินตรงจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ต และกระบี่ ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2563 ขยายเพิ่มที่ท่าอากาศยานเชียงราย และตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2563 – 15 กุมภาพันธ์ 2563 คัดกรองเที่ยวบินจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทั้งขาเข้าและขาออกจากประเทศจีน สะสมทั้งสิ้น 827เที่ยวบิน รวมคัดกรองผู้เดินทางและลูกเรือสะสม 67,121 ราย และคัดกรองสะสมเที่ยวบินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทั้งขาเข้าและขาออก 1,512,955 ราย ทางกระทรวงสาธารณสุขได้จัดเจ้าหน้าที่หมุนเวียนไปสนับสนุนเจ้าหน้าที่ที่ด่าน เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพตลอด 24 ชั่วโมง
- ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ได้คัดกรองพื้นที่ ณ ท่าเรือ 5 แห่ง (กรุงเทพมหานคร ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน ท่าเรือภูเก็ต และท่าเรือสมุย) มีผู้ได้รับการคัดกรองสะสมรวม 68,075 ราย และด่านพรมแดนทางบก มีผู้ได้รับการคัดกรองสะสม 440,043 ราย สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแจ้งวัฒนะ 33,456 ราย
- นักท่องเที่ยวทุกคนจะได้รับแจกคำแนะนำสุขภาพ (health beware card) จากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง และเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรค
หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำ และสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือ ไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก ปาก โดยไม่จำเป็น และปฏิบัติตามคำแนะนำ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” อย่างเคร่งครัด และหมั่นทำความสะอาด เช็ดถูบริเวณที่คนที่สัมผัสบ่อยๆ เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได ปุ่มกดลิฟท์ ราวจับบนรถโดยสารสาธารณะ เป็นต้น