เนื่องจากเป็นภาษีตัวใหม่ที่เข้ามาแทนตัวเดิม จึงต้องใช้เวลาให้ผู้เสียภาษีปรับตัว งานนี้ภาครัฐขยายเวลาให้ในปีแรก โดยขยายการแจ้งประเมินภาษีจากเดือนกุมภาพันธ์ เป็น มิถุนายน
ส่วนการชำระภาษี ภาครัฐขยายกำหนดให้ จากเดือนเมษายน เป็นสิงหาคม 63
สาระสำคัญหลัก ๆ ของภาษีตัวนี้ เป็นการเก็บภาษีจากเจ้าของที่ดินฯ ตามมูลค่าที่ถือครอง โดยอัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บดูจากการใช้ประโยชน์ของที่ดินฯ เป็นหลักครับ แบ่งเป็นอัตราภาษี 4 ประเภท
หากเป็นที่เกษตรกรรม ที่บุคคลธรรมดาใช้ทำประโยชน์เกษตรกรรม จะได้รับยกเว้นภาษี 3 ปี ตั้งแต่ปี 2563-2565 และตั้งแต่ปี 2566 จะได้รับการยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมกันไม่เกิน 50 ล้านบาท
หลายคนคงอยากรู้ว่า และมีกรณีไหนที่สามารถรับการบรรเทาภาระภาษีไหมครับ ตอบเลยครับว่ามี โดยผู้ที่เคยเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน หรือภาษีบำรุงท้องที่ และต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นเนื่องจากกฎหมายนี้ จะได้รับการบรรเทาภาระภาษีของส่วนต่าง เมื่อเทียบกับภาษีที่เคยเสียในปี 2562
ส่วนขั้นตอนการเสียภาษี ก็ไม่ยาก ต้องตรวจสอบบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่า มีการระบุประเภท ขนาด และลักษณะการใช้ประโยชน์ว่าถูกต้องหรือไม่ หากพบว่า บัญชีรายการที่ดินฯ ไม่ถูกต้อง ยื่นคำร้องต่อผู้บริหารท้องถิ่น แก้ไขให้ถูกต้องได้
นอกจากนี้ ก็ต้องตรวจสอบแบบประเมินภาษีที่ อปท. แจ้งประเมินภาษีแก่ผู้เสียภาษี ว่า ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์และอัตราภาษีตรงตามมูลค่าและการใช้ประโยชน์หรือไม่ หากพบว่า การประเมินภาษีไม่ถูกต้อง ยื่นเรื่องคัดค้านและอุทธรณ์ตามกระบวนการต่อไป
และอย่าลืมนะครับ กำหนดชำระภาษี ต้องไม่เกินวันที่ 31 สิงหาคม 2563 (เฉพาะปี 2563)