สรรพากรออกมาตรการภาษีเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัส COVID-19รอบ 2 อีก 6 มาตรการ ยกเว้นภาษีเงินได้จากค่าเสี่ยงภัยของบุคลากรทางการแพทย์ เพิ่มค่าลดหย่อน เบี้ยประกันสุขภาพ เลื่อนเวลายื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ภ.ง.ด.50/51 เลื่อนเวลาการยื่นแบบและชำระภาษีสำหรับกรณีต้องหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งของทางราชการ และยกเว้นภาษีอากร และค่าธรรมเนียมจากการปรับโครงสร้างหนี้
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “ที่ผ่านมากรมสรรพากร ได้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 อย่างใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้สถานการณ์โดยรวม ยังมีความน่าเป็นห่วงอยู่ กรมสรรพากรจึงได้ออกมาตรการภาษีเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด ของเชื้อไวรัสดังกล่าว เพื่อเป็นการบรรเทาและแบ่งเบาภาระของผู้เสียภาษีทั้งกลุ่มบุคคลและกลุ่มนิติบุคคล ดังนี้
มาตรการสำหรับกลุ่มบุคคล
กรมสรรพากรมีมาตรการภาษีสำหรับบุคลากรด้านสาธารณสุข ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ต้านภัย COVID-19 และมาตรการภาษีเพื่อให้ประชาชนโดยทั่วไปได้ดูแลสุขภาพอย่างมีคุณภาพ รวมถึงมาตรการเลื่อนเวลาการยื่นแบบและชำระภาษีของผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่
1. มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าตอบแทนในการเสี่ยงภัยของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ ทำหน้าที่เฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม รักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส COVID-19 เช่น แพทย์ พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ เจ้าหน้าที่สืบสวนโรค พนักงานขับรถส่งผู้ป่วย รวมทั้งบุคคลที่มิใช่ข้าราชการหรือข้าราชการที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุข เป็นต้น โดยเป็นการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าตอบแทนเสี่ยงภัยที่ได้รับจากกระทรวงสาธารณสุขในปีภาษี 2563
2. มาตรการเพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพ จากเดิมที่สามารถหักลดหย่อนได้ ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท เพิ่มเป็นหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับการหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตและเงินฝากประเภทสงเคราะห์ชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท เริ่มตั้งแต่ปีภาษี 2563 เป็นต้นไป เพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น และมีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพลดลง
3. มาตรการเลื่อนเวลายื่นแบบและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2562 รอบ 2 โดยกรมสรรพากรได้ออกมาตรการเลื่อนเวลาการยื่นแบบฯ เพิ่มเติมอีก 2 เดือน
จากสิ้นสุด 30 มิถุนายน 2563 เป็น 31 สิงหาคม 2563 เป็นมาตรการบรรเทาภาระให้แก่ผู้เสียภาษีที่จากเดิมได้มีมาตรการเลื่อนเวลาการ ยื่นแบบฯ ออกไป จากสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2563 เป็นเดือนมิถุนายน 2563
มาตรการสำหรับกลุ่มนิติบุคคล
กรมสรรพากรได้รับทราบถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 จึงได้มีมาตรการเพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว ได้แก่
1. มาตรการเลื่อนเวลาการยื่นแบบและชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเลื่อนการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50
จากเดิมที่ต้องยื่นในเดือนเมษายนถึงเดือนสิงหาคม 2563 เป็นถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 และเลื่อนการ ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 51 จากเดิมที่ต้องยื่นในเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน 2563 เป็นถึงวันที่ 30 กันยายน 2563
2. มาตรการเลื่อนเวลาการยื่นแบบและชำระภาษี สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องหยุดกิจการตามคำสั่งของทางราชการ และผู้ประกอบการอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยจะได้รับการเลื่อนเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีออกไปตามที่กระทรวงการคลังกำหนดต่อไป
3. มาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของ เจ้าหนี้ที่มิใช่สถาบันการเงิน ซึ่งจะช่วยเร่งให้การปรับโครงสร้างหนี้ของผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 สามารถดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น ช่วยให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น สามารถฟื้นฟูฐานะและกิจการแล้วประกอบอาชีพ และธุรกิจต่อไปได้ ส่วนทางด้านเจ้าหนี้และระบบสถาบันการเงินในภาพรวมจะมีต้นทุนลดลงและสามารถให้สินเชื่อแก่ประชาชนและธุรกิจต่างๆ เพิ่มเติมได้ ได้แก่ เจ้าหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด เช่าซื้อ ลีสซิ่ง และเจ้าหนี้อื่นที่ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ร่วมกับสถาบันการเงิน โดย (1) ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่ลูกหนี้ และเจ้าหนี้ (2) ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญให้แก่เจ้าหนี้ ทั้งนี้ สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 รวมทั้งลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดสำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จากร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 0.01
อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า “กรมสรรพากรมีความเป็นห่วงในความปลอดภัยของประชาชน รวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างยิ่ง และหวังว่ามาตรการภาษีจะช่วยบรรเทา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ต่อไป และขอเป็นกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่านให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ได้โดยเร็ว
**************************************
กรมสรรพากร เต็มที่ เต็มใจ ให้ประชาชน
สำนักงานเลขานุการกรม ส่วนประชาสัมพันธ์
เลขที่ 90 ถนนพหลโยธิน 7 พญาไท กรุงเทพฯ 10400 โทร. 0 2272 9529-30 โทรสาร 0 2617 3324
หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร 1161 (RD Intelligence Center)