สถาบันการเงินมีมาตรการช่วยเหลือผ่อนปรนการชำระหนี้เพื่อลดภาระในหลายรูปแบบ เช่น พักชำระเงินต้น หรือพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย มาดูผลในทางปฏิบัติว่าหลังจากเหตุการณ์ผ่านไป 6 เดือน ภายใต้ทางเลือกต่าง ๆ ภาระทางการเงินในแต่ละกรณีจะเป็นอย่างไรบ้าง
กรณีแรก ผ่อนชำระตามปรกติ สมมติว่า หากคุณเป็นหนี้บ้าน 1,000,000 บาท และมีงวดชำระหนี้จากการกู้ซื้อบ้านเดือนละ 10,000 บาท ซึ่งประกอบด้วย เงินต้น 4,000 บาท และดอกเบี้ย 6,000 บาท เรายังจ่ายชำระหนี้ตามปกติ เดือนละ 10,000 บาท เหมือนเดิม ก็จะช่วยลดเงินต้น ผ่านไป 6 เดือน ยอดหนี้ก็จะเหลือแค่ 976,000 บาท ดังนั้น หากใครเป็นหนี้และได้รับผลกระทบ สามารถติดต่อธนาคารเจ้าหนี้เพื่อขอรับความช่วยเหลือได้ ซึ่งจะทำให้เรายังไม่ต้องจ่ายหนี้ตามสัญญา โดยไม่ถือว่าผิดนัดชำระหนี้ และไม่เสียประวัติ
กรณีที่สอง พักชำระเงินต้น คือ สถาบันการเงินผ่อนปรนให้เรายังไม่ต้องชำระคืนเงินต้นตามเวลาที่กำหนดไว้ จากตัวอย่างเดิม สมมติเราเลือกพักชำระเงินต้น 6 เดือน จากปรกติจ่ายเดือนละ 10,000 บาท จะเหลือจ่ายแค่ดอกเบี้ยเดือนละ 6,000 บาท และเนื่องจากเราจ่ายดอกเบี้ยทุกเดือน ทำให้ยอดหนี้ไม่เพิ่มขึ้น ยังมีหนี้เหลือ 1,000,000 บาทเท่าเดิม
กรณีที่สาม พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย คือ ไม่ต้องจ่ายทั้งส่วนเงินต้นและดอกเบี้ยให้ธนาคารในช่วงที่ผ่อนปรน จากตัวอย่างเดิม จากที่ต้องจ่าย 10,000 บาท ก็ไม่ต้องจ่ายธนาคารเลย เพราะสถาบันการเงินผ่อนปรนให้เรา “ยังไม่ต้องชำระคืนค่างวด” ทั้งส่วนที่ชำระคืนเงินต้นและส่วนของดอกเบี้ย โดยไม่ถือเป็นการ “ผิดนัดชำระหนี้” ซึ่งเราก็จะไม่เสียประวัติในฐานข้อมูลเครดิตบูโร แต่ดอกเบี้ยเดือนละ 6,000 บาท ที่ไม่ได้จ่ายตลอด 6 เดือน ยังคงเดินอยู่ และไปเพิ่มยอดหนี้รวมเป็น 1,036,000 บาท