ในวันที่ 6 ธันวาคม 2555 ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) โดย พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และประธาน กทค. ได้แถลงการณ์เรื่องการรับทราบผลคดีพิพาทจากศาลปกครองกลาง, ผลตรวจสอบกรณีการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ, ผลการตรวจสอบจากคณะทำงานตรวจสอบพฤติกรรมการเสนอราคาของผู้เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz และผลพิจารณาคำชี้แจงเกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz จากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งสรุปได้ดังต่อไปนี้
1. คำสั่งของศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2555 ศาลปกครองกลางนัดผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ฟ้องคดี) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) (ผู้ถูกฟ้องคดี) เข้ารับฟังคำสั่งศาลคดี ซึ่งภายหลังศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 2865/2555 ระหว่างผู้ตรวจการแผ่นดิน กับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลพิจารณาเพิกถอนการกระทำทางปกครองในการจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz ของสำนักงาน กสทช. รวมถึงประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications – IMT) ย่าน 2.1 GHz พ.ศ. 2555 ซึ่งคำสั่งศาลปกครองกลางมีความว่า “การดำเนินการประมูลคลื่นความถี่ตามประกาศของ กสทช รวมถึงประกาศ กสทช ที่เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลเป็นคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่ผู้มีสิทธิเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครองตามมาตรา 245 วรรคหนึ่ง(2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา14 (2) แห่งพรบ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน 2552 และมาตรา 43 แห่งพรบ. จัดตั้งศาลปกครอง 2542 ได้ ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ใช่ผู้มีสิทธิและหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีตามมาตรา 42 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวดุจกัน จึงมีคำสั่งไม่รับคำเสนอเรื่องพร้อมความเห็นและคำขอให้ศาลกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณาและใหิจำหน่ายคดีออกจากสารบบ"
สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของกทค. นั้น มาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ให้อำนาจ กทค. ปฏิบัติหน้าที่แทน กสทช. ได้ในส่วนที่เป็นอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ตามมาตรา 27 (4) (6) (7) (8) (9) (10) (11) (12) (13) และ (16) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น การจัดการประมูลคลื่นความถี่ การรับรองผลการประมูลซึ่งเป็นกระบวนการส่วนหนึ่งของการออกใบอนุญาต กทค. จึงมีอำนาจดำเนินการแทน กสทช. และการดำเนินการหรือการกระทำของ กทค. มีผลสมบูรณ์ กสทช. ไม่มีอำนาจทบทวนการกระทำดังกล่าว ส่วนหน้าที่ของ กสทช. ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ คือ การจัดสรรคลื่นความถี่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน กสทช. ไม่สามารถคาดเดาในขั้นตอนของการกำหนดหลักเกณฑ์ได้ว่าจะมีผู้เข้าประมูลเพียง 3 ราย และแต่ละรายต้องการความถี่จำนวนเท่าใด
ทั้งนี้เนื่องจากผู้ฟ้องคดีมีอำนาจตรวจสอบเรื่องต่างๆ แต่รัฐธรรมนูญมีข้อยกเว้นว่าสำนักงานคณะกรรมการกิจการ กระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไม่ใช่ข้าราชการ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานท้องถิ่น ดังนั้น ศาลปกครองกลาง จึงไม่อาจตีความเรื่องคุณสมบัติของ กสทช. ให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายหลักได้ และผู้ฟ้องยอมรับในสำนวนคำร้องว่าไม่มีอำนาจตรวจสอบ กสทช. และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ซึ่งศาลปกครองกลางยืนยันว่าการประมูลใบอนุญาตฯ เป็นอำนาจของ กสทช. ดังนั้นศาลปกครองกลาง จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณา
2. ผลการตรวจสอบการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz จาก DSI เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2555 กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ ดีเอสไอ ได้ส่งผลการตรวจสอบการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่าการประมูลคลื่นความถี่ในครั้งนี้ ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz โดยวิธีประมูลตามประกาศ กสทช. ดังกล่าวเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไข โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 45 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการคมนาคม 2553 ซึ่งกำหนดให้ กสทช. มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาต เงื่อนไข หรือค่าธรรมเนียมการอนุญาตและจะต้องดำเนินการโดยวิธีการประมูลคลื่นความถี่ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และเงื่อนไขที่ กสทช. กำหนด
ซึ่งการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ได้ดำเนินการประมูลคลื่นความถี่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ ในขั้นตอนการกำหนดหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ กสทช. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด มีผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะเข้ามาประมูลได้ 20 ราย โดยมีผู้มารับแบบคำขอรับใบอนุญาตและลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมการประชุมชี้แจงการกรอกแบบคำขอรับใบอนุญาต 17 ราย และมายื่นคำขอรับใบอนุญาต 4 ราย ผ่านคุณสมบัติที่มีสิทธิเข้าเสนอราคาได้ จำนวน 3 ราย และจากการเสนอราคาปรากฏว่าได้มีการแข่งขันในการเสนอราคาทั้งหมด 7 รอบ และราคาที่ได้ไม่ต่ำกว่าราคาตั้งต้นที่มูลค่า 4,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ของมูลค่าคลื่นความถี่จำนวน 6,440 ล้านบาท นอกจากนี้ กสทช. กำหนดวิธีการประมูลคลื่นความถี่ออกเป็น 2 ขั้นตอน กล่าวคือ ขั้นตอนแรกเป็นการประมูลชุดคลื่นความถี่ และขั้นตอนที่สอง เป็นการกำหนดย่านความถี่ โดยการประมูลชุดคลื่นความถี่ เป็นการเปิดประมูลชุดคลื่นความถี่ที่จะให้อนุญาตพร้อมกันและดำเนินการประมูลหลายรอบ โดยราคาประมูลในแต่ละรอบจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ ย่อมเห็นได้ว่าการประมูลได้มีการแข่งขันราคากัน กรณีดังกล่าวจึงไม่เข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยคามผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542
3. หนังสือชี้แจงเกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz จากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2555 สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน มีหนังสือชี้แจงความเห็นเกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ที่ระบุว่ายังไม่มีข้อสังเกตที่จะแจ้งให้ทางสำนักงาน กสทช. ดำเนินการใดๆ แต่เพื่อประโยชน์ในการติดตามตรวจสอบผลการดำเนินการต่อไป ซึ่งภายใต้ข้อมูลตามเอกสารที่ส่งมาให้พิจารณานั้นมีข้อมูลอ้างอิงและมีเหตุผลที่รับฟังได้
4. คณะทำงานตรวจสอบพฤติกรรมการเสนอราคาของผู้เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz ได้สรุปผลการตรวจสอบพฤติกรรมเสนอราคาของผู้เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2555 ซึ่งเมื่อคณะทำงานฯ ได้วิเคราะห์จากข้อเท็จจริงประกอบกับพฤติกรรมของผู้เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz แล้วเห็นว่าไม่ปรากฏว่ามีพฤติกรรมใดของผู้เข้าร่วมประมูลคลื่นความถีท 2.1 GHz เข้าข่ายเป็นการกระทำอันแสดงถึงเจตนาที่ไม่สุจริตในการเสนอราคา หรือแสดงให้เห็นว่ามีการสมยอมในการเสนอราคา หรือมีการประพฤติผิดเงื่อนไขในกฏเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunication - IMT) ย่าน 2.1 GHz พ.ศ. 2555 แต่อย่างใด เนื่องจาก ในวันประมูลเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสทช. ได้มอบ Password เป็นการเฉพาะแก่ผู้เข้าร่วมประมูล และผู้แทนของบริษัทที่เข้าร่วมประมูลทุกคนมอบโทรศัพท์เคลื่อนที่และเครื่องมือติดต่อสื่อสารทุกชนิดไว้กับเจ้าหน้าที่สำนักงานกสทช. อีกทั้งได้จัดให้ผู้เข้าร่วมประมูลแต่ละบริษัทอยู่คนละห้อง ไม่สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมประมูลทั้งสามรายนั้น ได้ยืนยันว่าขณะที่มีการเสนอราคานั้น ไม่สามารถทราบว่ารายอื่นมีการเสนอราคาที่ชุดความถี่ใด รวมทั้งในการเลือกย่านความถี่นั้ นผู้มีสิทธิเลือกย่านความถี่ ได้ตัดสินใจเลือกย่านความถี่โดยพิจารณาจากปัจจัยในเชิงเทคนิคและธุรกิจของตนเป็นสำคัญ
คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) น้อมรับผลการตรวจสอบ และขอบคุณทุกหน่วยงานที่ตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ทาง กทค. ได้ดำเนินการด้วยความรอบคอบ ภายใต้กรอบกฎหมาย และอำนาจหน้าที่ ซึ่งขั้นตอนต่อจากนี้คือการเดินหน้าดำเนินการออกใบอนุญาตฯ ให้แก่ผู้ประกอบการที่ชนะการประมูลต่อไป พร้อมๆกับการกำหนดอัตราค่าบริการที่จะต้องลดลงจากปัจจุบัน 15-20 % และมาตรฐานเรื่องคุณภาพของบริการเป็นเรื่องที่ท่านประธาน กสทช. และ กทค. ได้ประกาศเจตนารมณ์ต่อสาธารณะอย่างชัดเจนแล้ว เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป
ทั้งนี้ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการที่ผู้ประกอบการสามารถนำคลื่นความถี่ที่ยังไม่ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์มาใช้ให้บริการเพื่อรองรับความต้องการของประชาชนได้มากขึ้นก่อให้เกิดการพัฒนาเครือข่ายโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโต และเป็นพื้นฐานต่อการยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยให้ทัดเทียมนานาประเทศ พร้อมก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเชียน (AEC) อย่างเต็มภาคภูมิ ท่ามกลางการแข่งขันในระดับสากลต่อไป
ข้อมูลจาก มติชนออไลน์
www.matichon.co.th วันที่ 06 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เวลา 16:13:30 น.