พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมประชุม สุดยอดอาเซียนสมัยพิเศษ ว่าด้วยการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ผ่าน ระบบการประชุมทางไกล
วันนี้ (14 เมษายน 2563) เวลา 08.00 น. ณ ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน สมัยพิเศษ ว่าด้วยการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ผ่านระบบการประชุมทางไกล ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก ส่งผล กระทบต่อทั้งชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงต่อเศรษฐกิจและสังคมด้วย โดยสถาบันวิจัย เอกชนชั้นนำอย่างแม็กคินซี่ได้คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของจีดีพีโลกในปีนี้อาจจะติดลบถึง ร้อยละ 1.5 และหากวิกฤตโควิด-19 ยืดเยื้อต่อไป ก็อาจจะติดลบไปถึงร้อยละ 4.7 ซึ่ง UNDP ระบุว่า ประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด โดยอาจสูญเสียรายได้กว่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ประเทศไทยเห็นว่า ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด ลดจำนวนผู้ติดเชื้อ ตลอดจนหาแนวทางร่วมกันในการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรอบด้าน โดยเมื่อคำนึงถึงสถานการณ์ภายในประเทศไทย จึงได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ มีผลตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม - 30 เมษายน 2563 และจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ให้ความสำคัญกับการรับมือและแก้ไขปัญหา ทั้งต้นทาง ที่เน้นควบคุมการเดินทางและคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศ กลางทาง โดยการรณรงค์มาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” และปลายทาง ให้ความสำคัญกับการรักษาผู้ป่วย และเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลยังได้สนับสนุนการวิจัยเชิงรุกเพื่อพัฒนาและจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ การพัฒนาวัคซีนสำหรับโควิด-19 และการพัฒนาระบบสนับสนุนโดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ไม่มีประเทศใดสามารถต่อสู้กับภัยคุกคามนี้ได้โดยลำพัง พร้อมได้กล่าว เสนอแนวทางที่สำคัญ 5 ประการ ดังนี้
1. อาเซียนต้องร่วมมือกันในทุกภาคส่วน เพื่อแก้ไขปัญหาแบบองค์รวม พร้อมเสนอให้อาเซียน และประเทศบวกสามร่วมกันจัดตั้ง “กองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19” โดยจัดสรรเงิน ที่มีอยู่แล้วเท่าที่สามารถตกลงกันได้ มาใช้ในการรับมือกับโควิด-19 ซึ่งรวมถึงการจัดซื้อชุดตรวจ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล และอุปกรณ์การแพทย์ ตลอดจนเพื่อการศึกษาวิจัยคิดค้นยาและวัคซีน ให้อาเซียนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว
2. อาเซียนควรต้องร่วมกันในการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ การผ่านพิธีการศุลกากร และการค้าชายแดนระหว่างกัน เพื่อให้ผู้บริโภคของเราได้เข้าถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ และสินค้าที่จำเป็นในช่วงวิกฤติอย่างเพียงพอและทันท่วงที
3. เราควรสนับสนุนให้อาเซียนใช้เศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยีใหม่ๆ และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคให้มากขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีเสนอให้เร่งรัดการเชื่อมโยงการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะการใช้มาตรฐานรหัสคิวอาร์ที่เชื่อมโยงกันได้ ให้การค้าภายในภูมิภาคของเรามีความคล่องตัวมากขึ้น
4. ขอเสนอให้อาเซียนถอดบทเรียนและประสบการณ์จากการต่อสู้กับโควิด-19 เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับ ความท้าทายต่างๆ ที่อาจคุกคามชีวิตของประชาชนในอนาคต โดยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ และจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งจากภายในและการพึ่งพาตนเองของภูมิภาคในระยะยาวให้มากขึ้น
5. เราควรเสริมสร้างบทบาทของท่านเลขาธิการอาเซียนในการเป็นผู้ประสานงานการให้ความช่วยเหลือให้ครอบคลุมถึงสถานการณ์วิกฤตอื่นๆ ให้เป็นไปอย่างมีระบบ และทันเหตุการณ์
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้ใช้โอกาสนี้กล่าวขอบคุณเลขาธิการอาเซียนที่ได้ช่วยจัดการหารือ ระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกอาเซียนที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและ หมอกควัน ข้ามแดน พร้อมย้ำว่า อาเซียนควรใช้โอกาสนี้มุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งของภูมิภาคนิยมและ พหุภาคีนิยม โดยเน้นความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภายในอาเซียน และกับภาคีภายนอกใน วันนี้เราต้องรอด วันหน้าเราต้องเข้มแข็ง
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ชื่นชมเวียดนาม ในฐานะประธานอาเซียนที่มีบทบาทในการเสริมสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียนในการตอบสนองต่อโควิด-19 อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งได้กล่าวต้อนรับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเข้าสู่ครอบครัวอาเซียนอีกด้วย