การคิดดอกเบี้ยแบบใหม่ เป็นการคิดบนฐานของค่างวดที่ผิดนัดชำระจริง ไม่ได้คิดจากเงินต้นคงค้างทั้งหมด ซึ่งเริ่มใช้ไปแล้วตั้งแต่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา
การคิดดอกเบี้ยแบบใหม่จะช่วยให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น ลดภาระของประชาชน และลดโอกาสที่ลูกหนี้จะไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ ที่สำคัญ ประชาชนจะได้รับสิทธิจากการปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยแบบใหม่นี้โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องไปขอแก้ไขสัญญาใดๆ เพิ่มเติมครับ
เดิมการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะคิดบนฐานของ “เงินต้นคงค้างทั้งหมด” สมมติว่าเรากู้ซื้อบ้าน 20 ปี 240 งวด ช่วง 2 ปีแรกผ่อนชำระดีมาโดยตลอด งวดที่ 25 มีปัญหาผ่อนชำระไม่ได้ สถาบันการเงินจะคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนฐานของเงินต้นคงค้างทั้งหมด หรือเงินต้นในค่างวดที่ 25 ถึงงวดที่ 240
แต่มาดูการคำนวณแบบใหม่จะคิดบนฐานของ “เงินต้นในค่างวดที่มีการผิดนัดชำระจริง” เท่านั้น ไม่รวมเงินต้นในค่างวดตามสัญญาในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง พูดง่ายๆ คือ การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่จะคิดบนฐานของเงินต้นในงวดที่ 25 เท่านั้น โดยจะไม่รวมเงินต้นในงวดที่ 26-งวดที่ 240
หลักคิดสำคัญในเรื่องนี้ คือ การกำหนดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ต้องคำนึงถึงความเสียหายจริงที่เกิดขึ้นกับเจ้าหนี้ (credit risk) และความสามารถในการจ่ายของลูกหนี้ไปด้วยกัน ถ้าสูงเกินไปอาจเป็นต้นตอที่ทำให้ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ได้ (affordability risk) นั่นเองครับ
การผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 พ.ค. 63 สถาบันการเงินสามารถนำหลักการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดแบบใหม่มาใช้ประกอบการพิจารณายกเว้นหรือผ่อนปรนดอกเบี้ยปรับผิดนัดชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ได้ตามสมควรครับ
และหากประชาชนมีข้อสงสัยหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องเรียนได้ที่ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินของแบงก์ชาติ โทร.1213