นางสาววิลาวรรณ พยาน้อย รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อออนไลน์เกี่ยวกับบำเหน็จบำนาญ กรณีถูกศาลสั่งจำคุกหรือล้มละลาย ว่าจะยังคงได้รับบำนาญต่อไปหรือไม่ นั้น
กรมบัญชีกลางขอชี้แจงว่า ผู้รับบำนาญที่ถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ในหรือหลังวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 จะยังคงได้รับบำนาญต่อไปได้ ด้วยเหตุผล ดังนี้
เดิม พระราชบัญญัติบําเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 มาตรา 52 บัญญัติไว้ว่า ผู้รับบำนาญที่กระทำความผิดถึงต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาโทษจำคุก เว้นแต่ความผิดในลักษณะลหุโทษ หรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท และผู้รับบำนาญที่เป็นบุคคลล้มละลายทุจริต จะหมดสิทธิรับบำนาญตั้งแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 กระทรวงการคลังได้ตราพระราชบัญญัติบําเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2551 และให้ยกเลิกมาตรา 52 โดยมีเหตุผลสำคัญ 3 ประการ ได้แก่
1) บำนาญ เป็นเงินที่ตอบแทนความชอบที่ได้รับราชการมา ความชอบดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผู้รับบำนาญได้สั่งสมมาตลอดชีวิตการรับราชการ แม้ผู้รับบำนาญจะได้กระทำผิดกฎหมายจนต้องได้รับโทษถึงจำคุกหรือเป็นบุคคลล้มละลายทุจริตในภายหลัง ก็ไม่ได้กระทบต่อความดีความชอบที่ผู้รับบำนาญได้กระทำไว้ในอดีต การนำเอาความผิดที่ได้กระทำในวันนี้ ไปลบล้างความชอบที่ได้กระทำลงไปแล้วจึงไม่ถูกต้อง ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการรับบำเหน็จ ซึ่งเป็นเงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนความชอบที่ได้รับราชการมาเช่นกัน เมื่อผู้รับบำเหน็จได้รับโทษจำคุกหรือเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต ก็มิได้มีการเรียกเงินบำเหน็จที่ได้รับไปแล้วคืนแต่ประการใด
2) ผู้รับบำนาญ มีเงินบำนาญที่ได้รับจากรัฐบาลทุกเดือนเป็นรายได้เพียงประการเดียว การที่ผู้รับบำนาญถูกงดบำนาญเพราะเหตุถูกจำคุก ภายหลังเมื่อผู้รับบำนาญพ้นโทษก็จะกลายเป็นบุคคลผู้ไม่มีรายได้ ซึ่งรัฐบาลก็ต้องจัดสรรงบประมาณในการสงเคราะห์ดูแลเช่นเดิม
3) ผู้รับบำนาญที่เสียสิทธิในการได้รับบำนาญเมื่อถึงแก่ความตาย ทายาทจะไม่มีสิทธิในการขอรับบำเหน็จตกทอด ทั้งที่ทายาทมิได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center กรมบัญชีกลาง
02 270 6400 ในวัน เวลาราชการ