กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้ปกครองช่วงอยู่บ้านเพื่อลดการติดเชื้อโควิด 19 ซึ่งสภาพอากาศช่วงนี้ร้อนจัด อาจมีการทำสถานที่ให้เด็กเล่นน้ำชั่วคราวขึ้นหรือพาไปตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ผู้ปกครองควรดูแลอย่างใกล้ชิด ระมัดระวังไม่ให้เด็กเข้าถึงแหล่งน้ำตามลำพัง เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุเด็กตกน้ำหรือจมน้ำเสียชีวิต
วันนี้ (21 พฤษภาคม 2563) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า แม้ว่าในช่วงนี้จะเข้าฤดูฝนแล้ว แต่สภาพอากาศในประเทศไทยยังคงร้อนจัด ประกอบกับเป็นช่วงที่ประชาชนหยุดอยู่บ้านเพื่อลดการติดเชื้อโควิด 19 และเป็นช่วงเด็กปิดเทอม ซึ่งอาจมีการทำสถานที่ให้เด็กเล่นน้ำชั่วคราวในบ้านขึ้น เช่น เปิดน้ำใส่สระยาง ถังน้ำ กะละมัง หรือพาไปเล่นน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ คลอง บึง นั้น กรมควบคุมโรค ขอเตือนผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กเข้าถึงแหล่งน้ำตามลำพัง โดยเฉพาะในห้องน้ำ ควรให้เด็กอยู่ในสายตาตลอดเวลา เพื่อป้องกันเด็กจมน้ำเสียชีวิตได้ เนื่องจากแหล่งน้ำเป็นสถานที่ดึงดูดความสนใจของเด็กๆ ซึ่งเด็กสามารถจมน้ำได้อย่างรวดเร็ว และเสียชีวิตค่อนข้างสูง
จากข้อมูลการเฝ้าระวังข่าวจากเครือข่ายในพื้นที่และสื่อในเบื้องต้น โดยกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 19 พฤษภาคม 2563 พบเหตุการณ์เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำถึง 39 เหตุการณ์ มีเด็กเสียชีวิต 35 ราย ไม่เสียชีวิต 15 ราย โดยเด็กอายุ 5-14 ปี จมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด เพศชายจมน้ำมากกว่าเพศหญิงเกือบ 2 เท่าตัว ที่น่าสนใจคือเกิดเหตุเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งต้องอยู่ในความดูแลอย่างใกล้ชิดของผู้ปกครองจมน้ำเสียชีวิตถึง 9 คน สำหรับสถานที่ที่เด็กเสี่ยงจมน้ำมากที่สุด ดังนี้ ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ได้แก่ อ่างอาบน้ำ ถังน้ำ กะละมัง บ่อเลี้ยงปลา สระน้ำรอบบ้าน และเด็กอายุ 5-14 ปี ได้แก่ สระน้ำ คลองชลประทาน อ่างเก็บน้ำ คลอง แม่น้ำ สระว่ายน้ำ ทะเล เป็นต้น
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับวิธีการป้องกันอุบัติเหตุเด็กจมน้ำ ผู้ปกครองควรจัดการแหล่งน้ำในบ้านให้ปลอดภัย ดังนี้ 1.ติดตั้งกลอนล็อคประตูห้องน้ำให้อยู่สูงที่เด็กไม่สามารถเปิดเองได้ 2.เทน้ำในถังน้ำหรือในภาชนะทิ้งทุกครั้ง หลังใช้งาน 3.คว่ำสระยางหรือภาชนะเพื่อไม่ให้มีน้ำขัง 4.จัดพื้นที่เล่นที่ปลอดภัย/คอกกั้นเด็กที่ไม่ใกล้แหล่งน้ำให้แก่เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี 5.กั้นเด็กออกจากแหล่งน้ำเพื่อไม่ให้เด็กเข้าถึงแหล่งน้ำตามลำพัง เช่น รั้วรอบแหล่งน้ำ ปิดคลุมสระน้ำและยกบันไดออกหลังการใช้งาน 6.เด็กต้องอยู่ในสายตาผู้ดูแล/ผู้ปกครองตลอดเวลาและไม่ควรให้เด็กอยู่ตามลำพังกับพี่ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี 7.สอนวิธีการป้องกันการจมน้ำแบบปลอดภัย โดยยึดหลัก “อย่าใกล้ อย่าเก็บ อย่าก้ม” ให้เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยไม่เข้าใกล้แหล่งน้ำ ไม่เก็บของที่อยู่ในน้ำ ไม่ก้มหรือชะโงกลงไปในน้ำ
นอกจากนี้ ในกรณีสระว่ายน้ำที่ใช้ร่วมกัน เช่น ในคอนโด สนามกีฬา สระเอกชน ควรมีรั้วรอบสระว่ายน้ำทั้ง 4 ด้าน และติดตั้งสัญญาณเตือนเพื่อแจ้งเตือนหากมีคนแอบเข้าไปใช้สระว่ายน้ำ รวมทั้งต้องมีเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญดูแลความปลอดภัยตลอดเวลาที่มีผู้มาใช้บริการ และขณะใช้บริการต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยจนกว่าจะถึงสระว่ายน้ำและเก็บไว้ในถุงสะอาด จากนั้นให้นำมาสวมใส่อีกครั้งเมื่อขึ้นจากสระว่ายน้ำแล้ว ห้ามบ้วนน้ำลาย ปัสสาวะ หรือสั่งน้ำมูกลงในน้ำเป็นอันขาด ห้ามพูดคุยเล่นกับเพื่อน และเว้นระยะห่างระหว่างกัน 1-2 เมตร
สำหรับในชุมชน ทุกภาคส่วนควรให้ความร่วมมือในการดำเนินงาน เช่น ให้ความรู้เด็กและผู้ปกครองในการป้องกันการจมน้ำ ร่วมสำรวจแหล่งน้ำเสี่ยง จัดการแหล่งน้ำให้ปลอดภัย เช่น การติดตั้งรั้วกั้น ป้ายเตือน และอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำ สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ข้อมูลจาก : กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค
วันที่ 21 พฤษภาคม 2563