วันนี้ (25 พฤษภาคม 2563) ณ ห้องวายุภักษ์ 4 กระทรวงการคลัง ได้มีพิธีแถลงข่าวการดำเนินมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ร่วมกับหน่วยงานภายใต้สังกัด และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) โดยได้บูรณาการการทำงานร่วมกันในการดูแลเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ด้วยการสานต่อโครงการ “ก้าวต่อไปเราไม่ทิ้งกันสู้ภัยโควิด-19” และจัดตั้ง “ทีมเราไม่ทิ้งกัน” เพื่อติดตาม สำรวจ และรับทราบความเดือดร้อน พร้อมเร่งเยียวยา ฟื้นฟู คืนอาชีพ คืนความสุขให้กับประชาชน ตลอดจนออกมาตรการเพื่อเติมความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างฐานรากทางเศรษฐกิจของประเทศให้แข็งแกร่ง โดยมี ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานแถลงข่าว พร้อมด้วย ผู้บริหารกระทรวงการคลัง ผู้บริหารหน่วยงานภายใต้สังกัด และผู้บริหารสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดย ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เข้าร่วมในพิธี
ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินได้ดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ตามแนวทางที่กระทรวงการคลัง ได้กำหนดกรอบและแนวทางไว้ โดยได้ออกมาตรการดูแลเป็นการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งที่เป็นลูกค้าและประชาชนทั่วไป ได้แก่ มาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยโดบอัตโนมัติเป็นระยะเวลา 6 เดือน มาตรการให้เงินกู้ฉุกเฉิน 10,000 บาท และ 50,000 บาท การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟท์โลน แก่สถาบันการเงิน น็อนแบงก์ ตลอดจนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของธนาคารออมสิน การลงพื้นที่ตรวจสอบสิทธิ์ผู้ลงทะเบียนที่ขอทบทวนสิทธิ์ตามมาตรการชดเชยรายได้ให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และล่าสุด ได้ดำเนินการรับเรื่องร้องทุกข์จากผู้ลงทะเบียนในมาตรการลงทะเบียนขอรับเงินชดเชยรายได้จากประชาชนที่ลงทะเบียนแล้วยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ 5,000 บาท อีกด้วย
“ช่วง 1-2 เดือนนี้ จะเห็นได้ว่ามีผู้มาติดต่อที่สาขาธนาคารออมสินเป็นจำนวนมาก หลายสาขามีคนเข้าแถวรอจนล้นออกมานอกสาขาเป็นคิวยาวมาก ท่ามกลางการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งธนาคารฯ ได้ปฏิบัติตามแนวทางที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ทั้งในส่วนการรับรองลูกค้าและการดูแลความพร้อมของพนักงาน โดยหลายธุรกรรมได้แนะนำให้ลูกค้าใช้บริการออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ เช่น การลงทะเบียนสินเชื่อฉุกเฉินรายย่อย ซึ่งสะดวกและรวดเร็วกว่า เพื่อหลีกเลี่ยงการพบปะกัน เสี่ยงต่อการติดเชื้อ” ดร.ชาติชาย กล่าว ทั้งนี้ ความคืบหน้าของมาตรการที่ธนาคารออมสินดำเนินการอยู่ ได้แก่
ดร.ชาติชาย กล่าวต่อไปว่า สำหรับโครงการ “ก้าวต่อไปเราไม่ทิ้งกันสู้ภัยโควิด-19” ภายใต้ความร่วมมือกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ทั้ง 9 แห่ง ธนาคารออมสินได้กำหนดแนวทาง “เยียวยา ฟื้นฟู ส่งเสริมสร้างอาชีพ คืนความสุข สร้างภูมิคุ้มกัน” ด้วยแนวคิด “คืนความสุข สร้างภูมิคุ้มกัน” ผ่าน 4 กระบวนการ คือ 1. เยียวยา ดำเนินการภายใต้มาตรการเสริมสภาพคล่องต่อเนื่องหลังจากการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนสิ้นสุด ด้วยการพักชำระหนี้ต่อเนื่องอีก 2 ปี โดยให้เลือกชำระดอกเบี้ย 50 – 100% ได้ตามความสามารถ และยังคืนดอกเบี้ยให้อีก 20% (Cash Back) กรณีผ่อนขำระดีต่อเนื่อง รวมถึงขยายระยะเวลาผ่อนชำระออกไป ขณะเดียวกันได้ตั้งทีมคลินิกคลังสมอง หมอคลัง “เราไม่ทิ้งกัน” บริการด้วยระบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์/ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์/สื่อสังคมออนไลน์ธนาคารออมสิน เช่น GSB Society ซึ่งจะเชื่อมโยงข้อมูลกับเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกัน รับเรื่องเยียวยา ให้คำปรึกษา ประสานเครือข่ายเพื่ออำนวยความสะดวกให้บริการประชาชนอย่างครอบคลุม รวดเร็วธนาคารออมสิน ยินดีดูแลผู้ได้รับผลกระทบที่เดินเข้ามาหาเรา ด้วยมุ่งหวังให้คนไทยสามารถดำเนินชีวิตฝ่าฟันผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ไปให้ได้ กระบวนการที่ 2 การคืนอาชีพ ธนาคารฯ ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย อาทิ มหาวิทยาลัยประชาชน สร้างงานชุมชน โครงการช่างประชารัฐ ให้ช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ผ่านเครือข่ายพันธมิตร รวมถึงมีการจัด “ตลาดนัดเราไม่ทิ้งกัน” ทั่วประเทศ ขณะที่ กระบวนการที่ 3 คืนความสุข โดยธนาคารฯ ได้ร่วมกับชุมชนต่างๆ ดำเนินการ “ตู้คลังออมสินปันสุข” ทุกชุมชน ซึ่งได้นำร่องจัดทำไปแล้วในหลายพื้นที่ และต่อไปจะดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม “ออมสินดูแล ห่วงใย ไม่ทิ้งกัน” สำหรับกระบวนการสุดท้าย กระบวนการที่ 4 ฟื้นฟูรายได้ ด้วยการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ระยะเวลาผ่อนนาน จำนวน 4 ประเภท วงเงินสินเชื่อประเภทละ 10,000 ล้านบาท รวมวงเงินสินเชื่อ 40,000 ล้านบาท ได้แก่ สินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ สินเชื่อก่อร่างสร้างตัวใหม่ สินเชื่อคลายกังวล และ สินเชื่อซอฟท์โลนเยียวยาผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกและธุรกิจท่องเที่ยว
“ปัจจุบัน ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19) ได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนทำกิจกรรมหรือดำเนินชีวิตได้เป็นปกติให้มากที่สุดภายใต้หลักเกณฑ์ควบคุมการแพร่ระบาด ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังได้เร่งออกมาตรการฟื้นฟูฯ ออกมาควบคู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมนี้ เพื่อช่วยให้ประชาชนอุ่นใจได้ว่าหากต้องการความช่วยเหลือ จะได้รับอย่างแน่นอน โดยธนาคารออมสินยินดีดูแลผู้ต้องการฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่ ด้วยมุ่งหวังให้สามารถดำเนินชีวิตฝ่าฟันผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ให้มีความเป็นอยู่อย่างปกติตามสถานการณ์โดยเร็วและเหมาะสม” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวในที่สุด. #คลังรวมใจสู้ภัยโควิด19