วันนี้ (20 ก.ค. 63) เวลา 11.00 น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ถนนกรุงเกษม สะพานขาว กทม. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า กรณีการจ่ายเงินเยียวยา 3,000 บาท สำหรับกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ตามที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดำเนินโครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยการจ่ายเงินเยียวยาโดยตรงรายละ 1,000 บาทต่อเดือน เพิ่มเติมจากเงินอุดหนุนเพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เบี้ยความพิการ และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2563 รวมเป็นเงิน 3,000 บาท มีจำนวนทั้งหมด 6,781,881 ราย ประกอบด้วย 1. เด็กที่ได้รับสิทธิโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด จำนวน 1,394,756 ราย 2. ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จำนวน 4,056,596 ราย และ 3. คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ จำนวน 1,330,529 ราย
นายจุติ กล่าวต่อไปว่า ในวันนี้ กรมบัญชีกลาง ได้จ่ายเงินเยียวยา 3,000 บาท สำหรับกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เข้าบัญชีของผู้มีสิทธิทั้งสามกลุ่มแล้ว โดยกลุ่มเปราะบางทั้งสามกลุ่ม ที่มีสิทธิรับเงินเยียวยา 3,000 บาท ต้องมีหลักเกณฑ์ ดังนี้ 1. เป็นผู้ที่ยังไม่เคยได้รับสิทธิการช่วยเหลือเยียวยาจากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงแรงงาน (สำนักงานประกันสังคม) 2. เป็นกลุ่มที่อยู่ในฐานข้อมูลของกระทรวง พม. ซึ่งได้รับเงินอุดหนุนรายเดือนอยู่แล้ว จึงไม่ต้องมีการลงทะเบียนในการขอรับสิทธิ์อีก โดยหากท่านได้รับเงินอุดหนุนในเดือนพฤษภาคม 2563 จากช่องทางการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร หรือในรูปแบบเงินสดถือว่าท่านมีสิทธิ์ตามมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของกระทรวง พม. และ 3) ต้องเป็นผู้ที่มีชีวิตอยู่ ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2563 ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่จะได้รับเงินเยียวยาในรูปแบบเงินสดนั้น ทางกรมบัญชีกลางได้โอนเงินเข้าไปยังบัญชีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แล้ว ซึ่งหลังจากนี้ อปท. จะรีบดำเนินจ่ายเงินแก่กลุ่มเป้าหมายที่รับเงินอุดหนุนรายเดือนเป็นเงินสดอยู่เดิมโดยเร็วที่สุด ไม่เกิน 15 วันทำการ ในกรณีที่ไม่ได้รับสิทธิ์หรือมีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ทุกจังหวัด หรือ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300 บริการฟรี 24 ชั่วโมง