อาการซีดถือเป็นภัยเงียบที่จะก่อให้เกิดโรคร้ายได้ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย จึงร่วมกับ สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย จัด “เสวนาโลหิตวิทยาพบประชาชน ครั้งที่ 3 เรื่อง โลหิตจาง : ภัยเงียบที่ต้องรับรู้” ซึ่งมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา จากสมาคมโลหิตวิทยาฯ มาเป็นวิทยากรเพื่อให้ความรู้กับประชาชนทั่วไป ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
พ.อ.รศ.นพ.ไตรโรจน์ ครุธเวโช ประธานอนุกรรมการ สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศ ไทย กล่าวว่า โลหิตจางหรือซีด เป็นภาวะที่จำนวนเม็ดเลือดแดงในร่างกายลดน้อยลง ผู้ที่มีโลหิตจางจะมีอาการซีด เพลีย เหนื่อยง่าย เยื่อบุตาหรือริมฝีปากซีด ผู้สงสัยมีอาการเช่นนี้ควรไปพบแพทย์และได้รับการตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อยืนยันว่ามีอาการซีดจริงหรือไม่ และสาเหตุอาการซีดเกิดจากอะไร อาการโลหิตจางที่พบบ่อยในคนไทย เกิดจากการขาดธาตุเหล็ก ซึ่งมาจากการรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กไม่เพียงพอ มีการเสียเลือดเรื้อรัง, โรคกระเพาะอาหาร การป้องกันสามารถทำได้ด้วยการกินอาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น เนื้อสัตว์ ตับ เลือดหมู นม ไข่ ถั่ว ผักใบเขียว ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุจากโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นโรคที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม ทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงที่มีลักษณะผิดปกติ อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โลหิตจางคือ ภาวะพร่องจีซิกพีดี เอนไซม์ ที่มีอยู่ในเซลล์ทั่วไปของร่างกาย รวมทั้งเม็ดเลือดแดง ถ้าขาดเอนไซม์นี้จะทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่าย ผู้มีภาวะพร่องเอนไซม์นี้มักเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม และมักเกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
พ.อ.รศ.นพ.ไตรโรจน์ ครุธเวโช (ที่ 2 จากซ้าย) และ พญ.สร้อยสอางค์ พิกุลสด (ที่ 2 จากขวา) นำทีมคุณหมอให้ความรู้เกี่ยวกับโลหิตจางแก่ประชาชน.
ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง ชี้ข้อสังเกตอาการโลหิตจางในเด็กว่า ถ้าเกิดในเด็กเล็ก เด็กมักจะมีอาการงอแง ไม่เล่น ส่วนเด็กโตจะง่วงนอน การเรียนตก ไม่กระฉับ กระเฉง อาการแสดงของโรคนี้ดูได้จากสีที่ฝ่ามือฝ่าเท้า, สีเล็บ,สีเยื่อบุตาและสีริมฝีปาก การซีดกับตัวเหลืองมีความต่างกัน การซีดเป็นอาการไม่ใช่โรค แต่เป็นอาการที่เป็นสาเหตุของโรคหลายอย่างได้ เช่น โรคธาลัสซีเมีย, มะเร็งเม็ดเลือดขาว, ไขกระดูกไม่ทำงาน เป็นต้น หากมีอาการซีดแม้ว่าเล็กน้อยก็ควรไปพบแพทย์
พร้อมนี้ พญ.สร้อยสอางค์ พิกุลสด ผอ.ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย กล่าวว่า โลหิตจางยังเป็นปัญหาสำคัญในการจัดหาโลหิตของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ แต่สำหรับคนปกติทั่วไปการบริจาคโลหิตแต่ละครั้งประมาณ 350-450 มิลลิลิตร ทำให้ร่างกายเกิดภาวะสูญเสียธาตุเหล็กมากกว่าปกติ ถึงแม้ว่าการนำโลหิตออกจากร่างกายในปริมาณที่เหมาะสม ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใด แต่ยังช่วยกระตุ้นให้ไขกระดูกทำงานได้ดีขึ้น สุดท้ายคุณหมอยังแนะนำด้วยว่า การบริจาคโลหิตไม่ควรกระทำบ่อยเกินไปกว่าทุก 3 เดือน.
ข้อมูลจาก ไทยรัฐออนไลน์
http://www.thairath.co.th/content/life/314149 โดย ทีมข่าวหน้าสตรี
19 ธันวาคม 2555, 05:45 น.