11ส.ค.63-นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (เลขาฯ ก.ค.ศ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ในการประชุม ก.ค.ศ.ที่มีนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธาน ที่ประชุมมีมติอนุมัติการจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุราชการของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จำนวน 23,321 อัตรา ดังนี้ สพฐ.จำนวน 21,984 อัตรา สป.ศธ. 254 อัตรา โดยให้สงวนตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) จำนวน 2 อัตรา เนื่องจากอยู่ระหว่างการทบทวนแนวทางการจัดสรรอัตราว่าง จากผลการเกษียณอายุราชการ ตำแหน่งประเภทอำนวยการ ของ คปร. สอศ. 1,083 อัตรา ทั้งนี้ให้หน่วยงานดังกล่าว สงวนอัตรา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ที่ได้รับการจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุราชการ เมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 5,311 อัตรา จำนวน 320 อัตรา และจำนวน 10 อัตรา ตามลำดับ เพื่อรองรับการบรรจุบุคคลตามโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ตามมติคณะรัฐมนตรีและที่ประชุมกระทรวงศึกษาธิการ คือ จัดสรรอัตราตำแหน่งข้าราชการครู ที่เกษียณอายุราชการไม่เกินร้อยละ 25 ของอัตราตำแหน่งข้าราชการครูที่เกษียณอายุราชการในรอบ 10 ปี (ปี พ.ศ. 2559-2568) โดยให้เป็นไปตามข้อตกลงของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกับส่วนราชการ
นายอัมพร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาผู้ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งรองศึกษาธิการจังหวัด (รอง ศธจ.) และ ศธจ. เนื่องจากหลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาผู้ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่ง รอง ศธจ. และ ศธจ. กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกต้องได้รับการพัฒนาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด ซึ่ง ก.ค.ศ. เห็นว่าการเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ศึกษานิเทศก์ ศธจ. และรอง ศธจ. ควรกำหนด ให้มี 4 องค์ประกอบ คือ การคัดกรองการคัดเลือก การพัฒนาก่อนการบรรจุและแต่งตั้ง และการประเมินสัมฤทธิ์ผลการปฏิบัติงานในหน้าที่เพื่อพัฒนาการศึกษา ซึ่งในส่วนของการคัดกรองนั้นบังคับทักษะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรอง ผอ.สพท. และผอ.สพท. สังกัด สพฐ. มาเป็นฐานในการจัดทำร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวการพัฒนาให้แก่ผู้ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งรอง ศธจ.และ ศธจ.ด้วย