นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ราคายางพารายางแผ่นรมควันชั้น 3 ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขยับเกิน 60 บาทต่อกิโลกรัม เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความต้องการในตลาดโลก โดยเฉพาะประเทศจีนที่มีการสั่งซื้อปริมาณมากหลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ทั้งนี้ เพื่อให้ยางพาราไทยมีศักยภาพทางการแข่งขัน เป็นที่ต้องการมากกว่าสินค้าจากประเทศอื่น การผลิตจึงต้องสอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งด้านราคาและคุณภาพ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ “การตลาดนำการผลิต” มอบหมายให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่/เพิ่มมูลค่า ต่อยอดและลดข้อจำกัดผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติ เจาะตลาดผลิตภัณฑ์ยางเฉพาะกลุ่ม ขยายตลาดต่างประเทศ ลดต้นทุนการผลิต โดยจะมีโครงการสำคัญเกิดขึ้นหลายโครงการ เช่น 1)โครงการสนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนาสินค้ายางพาราให้แก่คนรุ่นใหม่ เพื่อสร้างบุคลากรคุณภาพสำหรับอุตสาหกรรมยางพารา 2) แผนผลักดัน “สตาร์ตอัพ” เป็นการให้การช่วยเหลือแหล่งทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ และ 3) โครงการรับเบอร์วัลเล่ย์ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้านวัตกรรมยางพาราครบวงจรของโลก ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความคุ้มค่าและดึงดูดนักลงทุน กยท.คัดเลือกพื้นที่ในจังหวัด นครศรีธรรมราช คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้
สำหรับการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้จะมีผลกระทบต่อความต้องการใช้ยางพาราในภาพรวมช่วงต้นปี แต่การส่งออกถุงมือยางของไทย ซึ่งเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากมาเลเซีย กลับมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 8-15% ด้วยโอกาสอันหน้าสนใจบวกกับศักยภาพของประเทศ รัฐบาลตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางการผลิตถุงมือยางธรรมชาติของโลก” ที่คาดว่าในปีนี้ จะมีมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลัก จะบูรณาการการทำงานกับหลายภาคส่วน เช่น กระทรวงพาณิชย์ผลักดันเรื่องการตลาด จัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยผ่านกิจกรรมจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ค้าและผู้ซื้อถุงมือยาง การทำงานร่วมกันของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์บริการ มหาวิทยาลัยต่างๆ และผู้ประกอบการถุงมือยาง เรื่องงานวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีถุงมือยาง
และควบคู่ไปกับการพัฒนาสินค้าเพื่อมุ่งเป้าตลาดต่างประเทศ นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า รัฐบาลได้เดินหน้าในเรื่องการจัดการอุปสงค์อุปทานยางพาราในประเทศ เพราะตระหนักดีว่าจะพึ่งพิงการส่งออกเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ที่ผ่านมา มีการเร่งรัดการใช้ยางพาราของหน่วยงานภาครัฐไปแล้ว สำหรับปี 2563-2565 มีแผนการใช้ยางพาราของกระทรวงคมนาคม ปริมาณ 1 ล้านตัน ในโครงการอุปกรณ์ทางด้านการจราจร มากไปกว่านั้น ยังมีมาตรการลดอุปทานยาง ตั้งเป้าทำโซนนิ่งพื้นที่ 2 ล้านไร่ ที่เป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งจะได้รับการส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจทดแทนหรือปลูกพืชผสมผสาน คาดจะลดปริมาณการผลิตได้ประมาณ 5 แสนตัน เบื้องต้น ตั้งเป้าภายใน 3 ปี จะทำการโซนนิ่งได้ 4 แสนไร่
“ราคายางพารามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น จากความต้องการของตลาดโลกและประเทศจีน การใช้ “การตลาดนำการผลิต” จะทำให้ยางพาราไทยมีโอกาสส่งออกมากกว่าประเทศอื่น เพราะใช้ความต้องการของตลาดเป็นตัวตั้ง สิ่งที่สำคัญ ขอให้เกษตรกร สถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการ ร่วมมือในการปรับตัว จะทำตามที่เคยชินโดยไม่สนใจตลาดและคู่แข่งไม่ได้ ส่วนมาตรการเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศจากภาครัฐ และการลดพื้นที่ปลูกยางจะมีส่วนช่วยยกระดับราคายางในระยะยาวได้อย่างแน่นอน สำหรับโครงการประกันรายได้ชาวสวนยาง ได้ผ่านการเห็นชอบในหลักการของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติแล้ว รอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ขอให้เกษตรกรมั่นใจว่ารัฐบาลมีมาตราการสร้างเสถียรภาพราคายาง และดูแลชาวสวนยางในยามที่ราคาตกต่ำ แต่ทุกอย่างจะสำเร็จได้ก็ต้องมาจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน” รองโฆษกฯ กล่าว