โฆษกรัฐบาลเผยนายกรัฐมนตรีแจงปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาที่ทั่วโลกเผชิญไม่ใช่เฉพาะไทย ย้ำการใช้จ่ายงบกลาง มีแผนงานโครงการชัดเจน ผ่านการตรวจสอบและมติคณะรัฐมนตรี
วันนี้ (9 ก.ย.63) นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างการพิจารณาญัตติเปิดอภิปราย ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร อาคารรัฐสภา ย้ำเชิญมหาเศรษฐีในประเทศไทยให้มาร่วมช่วยเหลือประเทศไทย โดยเฉพาะช่วยลูกจ้างและประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ยืนยันไม่มีการร้องขอผลประโยชน์ระหว่างกันทั้งสิ้น
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังเผยว่า นายกรัฐมนตรีชี้แจงอย่างชัดเจนถึงหมวดค่าใช้จ่ายงบประมาณปี 2563 หรืองบกลาง จำนวนประมาณ 5 – 6 แสนล้านบาทนั้น ประกอบด้วย 1) เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมาก 2) ค่าใช้จ่ายเงินชดใช้เงินทดลองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 3) ค่าใช้จ่ายโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 4) ค่าใช้ในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนังงานของรัฐ 5) เงินชดเชยค่างานก่อสร้าง 6) เงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ 7) เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญ 8) เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ 9) เงินสมทบของลูกจ้างประจำ 10) เงินสำรองเงินสมทบและเงินชดเชยของข้าราชการ 11) เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินที่จำเป็น มีวงเงินเพียง 96,000 ล้านบาทเท่านั้น และในวงเงินดังกล่าวทุกอย่างต้องได้รับการตรวจสอบและเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อน และต้องมีแผนงานโครงการที่ชัดเจน
นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ขออย่านำเงินทุกอย่างมาปนกัน โดยเงินที่กู้มาทั้งหมดจริง ๆ คือ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งอยู่ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน ทุกอย่าง ส่วนเงิน 9 แสนล้านบาทเป็นเงินในประเทศที่สมาคมธนาคารร่วมมือกันเพื่อนำเงินดังกล่าวมาบริหารตรงนี้ โดยเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท นำไปใช้จ่ายตามกรอบที่ว่างไว้ ได้แก่
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ยังชี้ให้เห็นตัวเลขของประเทศคู่ค้าสำคัญของประเทศไทย ได้แก่ จีนขยายตัวร้อยละ 3.2 จากตัวเลขประมาณ 10.2 ลดลงมาจากก่อนหน้า -6.8 เวียดนามขยายตัวเหลือร้อยละ 0.36 สหราชอาณาจักร หดตัวที่ร้อยละ -21.7 มาเลเซีย หดตัวร้อยละ 17.1 สิงคโปร์ หดตัวร้อยละ 13.2 อินโดนีเซีย หดตัวร้อยละ 5.3 ยูโรโซน ลดลงติดลบถึง 15% สหรัฐอเมริกา หดตัว 9.5 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ญี่ปุ่นไตรมาสที่2 ปี 63 หดตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนของปีที่แล้วซึ่งหดตัวเพียงแค่ -1.8 สถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาที่ต้องเผชิญหน้ากันทั่วโลก ขณะที่ไทยมีศักยภาพโดยเฉพาะเรื่องพืชเกษตรและพันธ์ข้าว ซึ่งรัฐบาลกำลังสนับสนุนการเกษตรสมัยใหม่ให้ข้าวไทยสามารถแข่งขันได้ ทั้งนี้ ขอยืนยันรัฐบาลพยายามประคับประคองเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างเต็มที่เพื่อให้ฟื้นฟู และให้มีการจ้างงาน ป้องกันการเลิกจ้างงาน ยืนยันใช้เงินงบประมาณเป็นไปตามหลักการที่กำหนด รัฐบาลมีที่ปรึกษาและคณะทำงานที่มีความรู้ความสามารถที่จะทำงานไปสู่การปฏิบัติ
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก