ผู้สื่อข่าวสำนักข่าว EdunewsSiam ติดตามความคืบหน้าการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประเภททั่วไป โดยสัมภาษณ์แหล่งข่าวระดับสูงใน สพฐ. เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563
มีความคืบหน้าดังนี้ ภายหลังจาก สพฐ.จัดสอบแข่งขันทั่วไปครั้งที่ 1 ประจำปี 2563 เสร็จสิ้นไปเมื่อช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยมีอัตราว่าง 18,987 อัตรา แต่มีผู้สอบผ่านภาค ก และภาค ข จำนวนเพียง 10,375 คน คิดเป็นร้อยละ 6.86 ของผู้มีสิทธิสอบทั้งหมด 159,314 คน จึงยังเหลืออัตราว่างจำนวนหนึ่ง บวกกับจำนวนข้าราชการครูที่เกษียณอายุราชการในปีนี้ ทำให้มีจำนวนอัตราว่างรวมกันอยู่อีกพอสมควร ซึ่งจะเป็นปัญหาขาดแคลนครูผู้สอน
ช่วงที่ผ่านมา สพฐ.จึงเร่งเตรียมการเพื่อจัดสอบครั้งใหม่ ซึ่งมีความคืบหน้าไปพอสมควร โดยหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันนั้น ทราบจากทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า ยังให้ใช้หลักเกณฑ์และวิธีการเดิมไปก่อน
คือหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการครู ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ. ปี พ.ศ.2563 ประกอบด้วย ภาค ก. ความรู้ความสามารถทั่วไป และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรมและอุดมการณ์ความเป็นครู , ภาค ข. มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ
และภาค ค. ความเหมาะสมกับตำแหน่งวิชาชีพและการปฏิบัติงานในสถานศึกษา ซึ่งคณะกรรมการจากผู้แทน ก.ค.ศ., สพฐ. และคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) จะพิจารณาจาก 3 องค์ประกอบ ได้แก่ คุณลักษณะส่วนบุคคล 25 คะแนน (สอบสัมภาษณ์ 20 นาที), การพัฒนาตนเองและวิชาชีพ (แฟ้มสะสมผลงาน) 25 คะแนน และความสามารถด้านการสอน 50 คะแนน โดยให้ผู้เข้าสอบสาธิตการสอน 25 นาที และจะมีการบันทึกภาพและเสียงในรูปแบบวิดีโอไว้เป็นหลักฐาน
ส่วนการสอบภาค ก. ข. และ ค. ก็จะยังอยู่ในความดูแลของ สพฐ. และ ศธจ.เช่นเดิม จะยังไม่ใช้แนวทางใหม่ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภทต้องสอบผ่านภาค ก. ตามแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)
สำหรับเรื่องความยากง่ายของตัวข้อสอบ ซึ่งออกโดยมหาวิทยาลัยสวนดุสิตนั้น มีข้อสังเกตเบื้องต้นในขณะนี้ว่า อาจจะต้องพิจารณาเกี่ยวกับความยากง่ายของข้อสอบครั้งใหม่หรือไม่ เพราะการสอบครั้งที่ผ่านมามีผู้สอบผ่านภาค ก. และภาค ข. เพียงร้อยละ 6.86 ของผู้มีสิทธิสอบทั้งหมด 159,314 คน โดยมีอัตราว่าง 18,987 อัตรา แต่มีผู้สอบผ่านภาค ก. และ ข. จำนวนเพียง 10,375 คนเท่านั้น
ซึ่งถ้าผลการสอบออกมาเช่นนี้อีก อันเนื่องจากตัวข้อสอบอาจมีความยากเกินไปหรือไม่ ก็จะไม่สามารถหาครูมาบรรจุได้เต็มตามอัตราว่าง ซึ่งจะเป็นปัญหาขาดแคลนครูต่อไป ดังนั้น ฝ่ายเกี่ยวข้องใน สพฐ.อาจจำเป็นต้องหาข้อสรุปในประเด็นข้อสังเกตเรื่องนี้ด้วย
ทั้งนี้ ข้อสรุปเรื่องจำนวนอัตราว่างที่จะเปิดสอบบรรจุครั้งใหม่นี้ ยังรอรายงานตัวเลขจากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งกำลังรวบรวมจากตัวเลขอัตราว่างที่มีอยู่เดิม หลังจากบรรจุจากการสอบครั้งที่ผ่านมา บวกกับอัตราว่างจากการเกษียณอายุราชการในปีนี้ ซึ่งคาดว่ารวมแล้วอาจจะมีจำนวนประมาณ 1 หมื่นอัตราว่าง
แหล่งข่าวระดับสูงใน สพฐ.คนเดิม กล่าวว่า คาดว่าจะได้ข้อสรุปทั้งหมด และอาจประกาศเปิดรับสมัครบุคคลสอบแข่งขันทั่วไปครั้งใหม่นี้ได้ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2563 และอาจจะจัดสอบภาค ก. และ ข. ช่วงปลายเดือนมกราคมหรือต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564