การบีบน้ำนมด้วยมือเป็นเทคนิคที่มารดาต้องได้รับการเรียนรู้และการฝึก เพราะให้ทั้งประโยชน์และความสะดวก ข้อชี้บ่งของการบีบน้ำนมมีดังนี้
- ป้องกันหรือแก้ไขเต้านมคัด ภาวะท่อน้ำนมอุดตัน (blocked duct)
- เพิ่มการผลิตน้ำนม
- ให้ได้น้ำนมสำหรับทารกเมื่อมารดาและทารกต้องแยกจากกัน เช่นทารกอยู่ในหอผู้ป่วยและยังดูดนมเองไม่ได้
- เมื่อทารกไม่ยอมหรือไม่สามารถดูดนมจากเต้า เช่น สับสนวิธีป้อนนม หัวนมแม่ยาว/ใหญ่มากกว่าช่องปากของลูก เพื่อนำน้ำนมมาป้อนทารกด้วยวิธีที่ไม่ใช่ธรรมชาติ ได้แก่ ป้อนด้วยแก้วหรือขวด
การฝึกวางนิ้วมือ
- จัดนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้เป็นรูปตัว U และอยู่ในระนาบเดียวกัน
- วางนิ้วเฉพาะกระดูกนิ้วท่อนปลาย (distal phalanges) ไว้บนเต้านม ห่างจากฐานหัวนม 2 นิ้วมือหรือ 3 ซม.
- ห่างจากฐานหัวนม 2 นิ้วมือหรือ 3 ซม.
- ปลายนิ้วหัวแม่มือ ปลายนิ้วชี้ และหัวนมอยู่ในแนวเดียวกัน
- การบีบน้ำนมด้วยมือมี 3 จังหวะ
จังหวะที่ 1 กดนิ้วเฉพาะกระดูกนิ้วท่อนปลายเข้าหากระดูกทรวงอก
จังหวะที่ 2 - บีบนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้เฉพาะกระดูกนิ้วท่อนปลาย เข้าหากัน เพื่อให้บีบถูกพื้นที่ที่เป็นต่อมสร้างน้ำนมกว้างที่สุดและออกแรงบีบได้ทั้งสองนิ้ว โดยที่นิ้วอยู่หลังลานหัวนม ไม่ถูไถไปบนผิวหนัง และเข้าไปในลานหัวนม
- ลานหัวนมต้องไม่ย่นหรือยู่ การย่นและยู่ของลานนมเวลาบีบน้ำนม เป็นปัจจัยของการเกิดรอยย่นของลานหัวนม (areola wrinkle)
- การบีบน้ำนม มารดาต้องไม่เกิดความเจ็บปวดและแผลถลอก
จังหวะที่ 3 คลายนิ้วที่บีบโดยนิ้วไม่ถูกยกขึ้นจากผิวหนัง
เมื่อปฏิบัติจริง แนวทางการบีบน้ำนมจากเต้ามีขั้นตอนดังนี้
1. ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่
2. ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบเต้านมประมาณ 3-4 นาทีก่อนบีบน้ำนม
3. วางนิ้วมือที่อยู่ชิดกัน 4 นิ้วมือบนเต้านมและคลึงเต้านมเบา ๆ โดยเคลื่อนเป็นรูปวงกลม ตามด้วยการเขี่ยเต้านมเบา ๆ จากขอบนอกของเต้าสู่หัวนม ทั่วทั้งเต้า เพื่อกระตุ้น let down reflex
4. จัดนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้เป็นรูปตัว U ที่อยู่ในระนาบเดียวกัน แล้ววางไว้บนเต้านม หัวแม่มืออยู่ที่ตำแหน่งห่างจากฐานหัวนม 3 ซม. (2 นิ้วมือ) และนิ้วชี้วางใต้หัวนมห่างจากฐานหัวนม 3 ซม. ปลายนิ้วหัวแม่มือ ปลายนิ้วชี้ และหัวนมอยู่ในแนวเดียวกัน ฝ่ามือไม่สัมผัสหรือโอบเต้านม
5. บีบเต้านมโดยปฏิบัติเป็น 3 จังหวะ
6. ย้ายตำแหน่งที่วางนิ้วมือรอบ ๆ ลานหัวนมให้ทั่ว (เช่น วางนิ้วที่ 12 กับ 6 นาฬิกา และ 3 กับ 9 นาฬิกา) เมื่อน้ำนมไหลน้อย เพื่อบีบน้ำนมออกให้ทั่วเต้า
7. สลับเต้าที่บีบ และเปลี่ยนมือที่บีบเพื่อให้บีบได้สะดวก เมื่อน้ำนมไหลช้า
8. เขี่ยเต้านมตามด้วยการบีบน้ำนมซ้ำ ตามขั้นตอนที่กล่าว
9. บีบน้ำนมลงในภาชนะไร้เชื้อ ที่เป็นแก้วหรือพลาสติกแข็ง ไม่ใช้ขวดพลาสติกที่มี bisphenol A
10. การบีบแต่ละครั้ง ใช้เวลาบีบน้ำนมทั้งสิ้นประมาณ 20-30 นาที
หมายเหตุ ไม่ควรใช้พลาสติกอ่อน (ถุงเก็บน้ำนม) เพราะไขมันในน้ำนมแม่เกาะจับ และอาจรั่วทำให้ปนเปื้อนเชื้อ แต่ถุงเก็บน้ำนมให้ความสะดวกในการเก็บมากกว่าการเก็บน้ำนมในขวด
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ. เกรียงศักดิ์ จีระแพทย์
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล