ฟลูออไรด์จัดเป็นองค์ประกอบ 1 ใน 5 ที่สำคัญในการป้องกันฟันผุ ซึ่งได้แก่ การทำความสะอาดฟันโดยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันอย่างถูกวิธี การปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหาร การใช้ฟลูออไรด์ การเคลือบหลุมร่องฟัน และการตรวจสุขภาพฟันอย่างสม่ำเสมอทุกๆ 6 เดือน
ฟลูออไรด์เป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันฟันผุ ฟลูออไรด์พบได้ตามธรรมชาติ ทั้งในดิน หิน น้ำโดยเฉพาะน้ำบาดาล และในอาหาร เช่น ใบชา อาหารทะเล เนื้อสัตว์ ผัก
1. ผลเฉพาะที่ (Topical effect) คือ การใช้ฟลูออไรด์สัมผัสกับผิวฟันโดยตรง ซึ่งสามารถทำได้โดยการแปรงฟันด้วยยาสีฟันฟลูออไรด์ การใช้ยาบ้วนปากฟลูออไรด์ การเคลือบฟลูออไรด์โดยทันตแพทย์ การขัดฟันด้วยสารฟลูออไรด์
2. ผลทางระบบ (Systemic effect) คือ การที่เด็กรับประทานฟลูออไรด์เข้าไป เพื่อมุ่งผลให้ฟลูออไรด์เข้าไปในโครงสร้างของฟัน ขณะที่ฟันกำลังเจริญเติบโต ในรูปแบบของฟลูออไรด์ในน้ำดื่ม นมผสมฟลูออไรด์ ยาเม็ดฟลูออไรด์
ผลในการป้องกันฟันผุของฟลูออไรด์เป็นผลเฉพาะที่มากกว่าผลทางระบบ โดยฟลูออไรด์จะไปสะสมอยู่ในตัวฟันทำให้ผลึกเคลือบฟันแข็งแรงขึ้น ทนต่อกรดที่ทำให้เกิดฟันผุได้มากขึ้น ฟลูออไรด์ช่วยยับยั้งการละลายตัวของแร่ธาตุที่ผิวฟันและกระตุ้นให้เกิดการสะสมกลับของแร่ธาติที่ผิวฟัน เป็นผลให้ฟันผุในระยะเริ่มแรกหายเป็นปกติได้ นอกจากนี้ฟลูออไรด์ยังช่วยยับยั้งการสร้างกรดของแบคทีเรียและยับยั้งการเจริญของแบคทีเรีย
จำเป็นต้องปรึกษาทันตแพทย์ก่อน เนื่องจากความเสี่ยงในการเกิดฟันผุมีความแตกต่างกันในเด็กแต่ละกลุ่ม และการได้รับฟลูออไรด์ในรูปแบบและขนาดที่ไม่เหมาะสมจะทำให้ไม่ได้ผลเต็มที่ในการป้องกันฟันผุ และอาจเกิดอันตรายถ้าเด็กได้รับฟลูออไรด์ในปริมาณที่มากเกินไป
การใช้ฟลูออไรด์ที่ให้ผลเฉพาะที่สามารถเริ่มใช้ได้ตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรกขึ้น (เด็กอายุประมาณ 6 เดือน) ในรูปแบบของยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ แนะนำให้ใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ที่ความเข้มข้น 1000 ส่วนในล้านส่วน (ppm) ซึ่งจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันฟันผุ ซึ่งปริมาณของยาสีฟันที่ใช้มีความแตกต่างกันในแต่ละช่วงวัย
- ในเด็กอายุน้อยกว่า 3 ปี ควรใช้ปริมาณแค่แตะขนแปรงพอเปียก และควรเช็ดฟองออกขณะแปรงฟัน
- ในเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี ควรใช้ปริมาณเท่ากับความกว้างของแปรง
- ในเด็กอายุ 6 ปี ขึ้นไปและผู้ใหญ่ ควรใช้ปริมาณเท่ากับความยาวของแปรง
ภายหลังแปรงฟันควรบ้วนน้ำแต่น้อยเพื่อให้ฟลูออไรด์คงอยู่ในช่องปากมากที่สุด และไม่ควรดื่มน้ำตามภายหลังการแปรงฟันอย่างน้อย 30 นาที
สำหรับยาบ้วนปากฟลูออไรด์แนะนำให้ใช้ในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปที่สามารถควบคุมการกลืนและบ้วนทิ้งได้ และในผู้ใหญ่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุสูง
จำเป็นในผู้ใหญ่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุสูง เช่น ฟันผุ 1 – 2 ซี่ หรือมากกว่าในรอบปีที่ผ่านมา รับประทานของหวานบ่อยๆ ใส่เครื่องมือจัดฟัน มีโรคทางระบบที่ทำให้มีน้ำลายน้อย ได้รับการฉายรังสีรักษาบริเวณใบหน้าและลำคอ บุคคลเหล่านี้ควรได้รับฟลูออไรด์ที่ให้ผลเฉพาะที่ เช่น ยาสีฟันฟลูออไรด์ ยาบ้วนปากฟลูออไรด์ เคลือบฟลูออไรด์โดยทันตแพทย์
มีการศึกษาพบว่า การได้รับฟลูออไรด์ในรูปแบบและขนาดที่เหมาะสมต่อเนื่องกันเป็นเวลานานไม่มีอันตรายใดๆ และไม่สัมพันธ์กับการเกิดโรคทางระบบและการเกิดมะเร็งทุกชนิด แต่ถ้าเราสามารถดูแลสุขภาพช่องปากและฟันได้ดี การไม่ใช่ฟลูออไรด์ก็ไม่มีผลเสียเพราะฟลูออไรด์เป็นเพียงองค์ประกอบ 1 ใน 5 ในการป้องกันฟันผุเท่านั้น แต่ถ้าเราไม่สามารถดูแลสุขภาพช่องปากและฟันได้ดี การใช้ฟลูออไรด์จะช่วยป้องกันฟันผุได้ดีกว่าการไม่ใช้ฟลูออไรด์
ฟลูออไรด์ที่ทำให้เกิดอันตรายเป็นฟลูออไรด์ที่ให้ผลทางระบบโดยการรับประทานฟลูออไรด์เข้าไป เช่น การกลืนยาสีฟันฟลูออไรด์หรือยาบ้วนปากฟลูออไรด์ การดื่มน้ำที่มีปริมาณฟลูออไรด์มากเกินไป ซึ่งการเกิดพิษฟลูออไรด์ แบ่งได้เป็น 2 แบบคือ
1. การเกิดพิษชนิดเฉียบพลัน เกิดจากการรับประทานฟลูออไรด์เกินขนาดในครั้งเดียว ซึ่งจะมีอาการรุนแรงเพียงใดขึ้นกับปริมาณฟลูออไรด์ที่ได้รับเข้าไป อาการที่พบมีตั้งแต่คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย จนกระทั่งเสียชีวิตได้
2. การเกิดพิษชนิดเรื้อรัง เกิดจากการรับประทานฟลูออไรด์ในขนาดที่สูงกว่าขนาดที่เหมาะสมติดต่อกันเป็นเวลานาน อาการที่แสดงออกขึ้นกับปริมาณฟลูออไรด์และระยะเวลาที่ได้รับเข้าไป อาการที่พบส่วนใหญ่ คือ ฟันตกกระ และอาจมีผลต่อกระดูกทำให้ปวดข้อมือ ข้อเท้า ถ้าเป็นมากจะลุกลามไปยังกระดูกสันหลัง ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ทำให้หายใจลำบากและเสียชีวิตได้ มักพบในผู้ที่ดื่มน้ำบาดาลในภาคเหนือ
สำหรับในเด็ก การได้รับฟลูออไรด์เสริมที่ให้ผลเฉพาะที่สามารถเริ่มได้ตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรกขึ้น แต่ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงของการเกิดฟันผุ ซึ่งทันตแพทย์จะแนะนำวิธีการ รูปแบบและขนาดที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันฟันผุ แต่สิ่งสำคัญ คือ การใช้ฟลูออไรด์เพียงอย่างเดียวไม่สามารถป้องกันฟันผุได้ ดังนั้น เราจำเป็นต้องทำความสะอาดฟันโดยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันอย่างถูกวิธี การปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ลดอาหารหวานเหนียวติดฟัน ลดอาหารระหว่างมื้อ รวมถึงไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันอย่างสม่ำเสมอทุก 6 เดือน จะทำให้เรามีสุขภาพช่องปากที่ดี มีฟันที่แข็งแรงสามารถใช้เคี้ยวอาหารได้ตลอดชีวิต