บอร์ดบีโอไอไฟเขียวมาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหญ่ เร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี 2564 ทั้งกระตุ้นให้เกิดการลงทุนโดยเร็ว ขยายเวลามาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ SEZ 10 จังหวัด รวมทั้งจังหวัดชายแดนใต้ ไปอีก 2 ปี หนุนเขตส่งเสริมกิจการพิเศษใหม่ “การแพทย์จีโนมิกส์” มหาวิทยาลัยบูรพา พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการปรับปรุงประสิทธิภาพด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนหลายด้าน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ทั้งมาตรการกระตุ้นการลงทุนปี 2564 สำหรับโครงการที่มีการลงทุนจริง 1,000 ล้านบาทขึ้นไป รวมถึงการขยายเวลามาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ SEZ 10 จังหวัด และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อกระตุ้นการลงทุนในภูมิภาค พร้อมเปิดเขตส่งเสริมกิจการพิเศษการแพทย์จีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา (บางแสน) รวมทั้งเห็นชอบมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมการผลิตและบริการในอนาคต
สำหรับมาตรการกระตุ้นการลงทุนปี 2564 บีโอไอต้องการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนโดยเร็ว โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยมาตรการนี้กำหนดให้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 5 ปี เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติ หากมีเงินลงทุนจริงอย่างน้อย 1,000 ล้านบาท ภายใน 12 เดือนหลังออกบัตรส่งเสริม และไม่อนุญาตให้ขยายเวลาในขั้นตอนการตอบรับให้การส่งเสริมและการออกบัตรส่งเสริม ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอรับการส่งเสริมได้ตั้งแต่วันทำการแรกของปี 2564 ถึงวันทำการสุดท้ายของปี 2564
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นการลงทุนในภูมิภาค ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอจึงมีมติขยายเวลารับคำขอส่งเสริมการลงทุนออกไปอีก 2 ปี ถึงวันทำการสุดท้ายของปี 2565 สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ SEZ 10 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี เชียงราย ตราด ตาก นครพนม นราธิวาส มุกดาหาร สงขลา สระแก้ว และหนองคาย โดยมาตรการนี้ ครอบคลุมทุกประเภทกิจการที่เปิดให้การส่งเสริมกว่า 300 กิจการ แต่หากเป็นกิจการที่อยู่ใน 14 กลุ่มกิจการเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมเกษตร ประมง สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่มและเครื่องหนัง เครื่องเรือน อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องมือแพทย์ พลาสติก กิจการท่องเที่ยว เป็นต้น จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปีและลดหย่อนร้อยละ 50 อีก 5 ปี
รวมทั้ง ที่ประชุมยังมีมติให้ขยายเวลารับคำขอสำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกไปอีก 2 ปี เช่นเดียวกัน โดยมี 2 มาตรการ คือ 1) มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอจะนะ นาทวี สะบ้าย้อย และเทพา และ 2) มาตรการส่งเสริมการลงทุนภายใต้โครงการเมืองต้นแบบ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ใน 4 พื้นที่ ได้แก่ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี อำเภอเบตง จังหวัดยะลา อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส และอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 500,000 บาท และใช้เครื่องจักรที่มีอยู่เดิมร่วมได้ด้วย นอกจากนี้ หากมีโครงการที่ลงทุนอยู่แล้วเดิม ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งโครงการเดิม และโครงการลงทุนใหม่
นอกจากนี้ ยังมี 5 ประเภทกิจการที่เปิดให้การส่งเสริมการลงทุนในเฉพาะพื้นที่ SEZ และ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น ได้แก่ 1) กิจการผลิตวัสดุก่อสร้างและกิจการผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงสำหรับงานสาธารณูปโภค 2) กิจการผลิตสิ่งปรุงแต่งสำหรับประทินร่างกาย เช่น สบู่ ยาสระผม ยาสีฟัน เครื่องสำอาง 3) กิจการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกสำหรับสินค้าอุปโภค เช่น บรรจุภัณฑ์พลาสติก 4) กิจการผลิตสิ่งของจากเยื่อหรือกระดาษ เช่น กล่องกระดาษ และ 5) กิจการพัฒนาอาคารสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมและ/หรือคลังสินค้า โดยยื่นขอรับการส่งเสริมได้ถึงวันทำการสุดท้ายของปี 2565
ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอยังมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ให้เขตส่งเสริมการแพทย์จีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา (บางแสน) เป็นพื้นที่เขตส่งเสริม เพื่อกิจการพิเศษ โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับโครงการที่ตั้งในเมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) และศูนย์การแพทย์ครบวงจรธรรมศาสตร์ (พัทยา) (EECmd) คือ หากเป็นกิจการที่ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตั้งแต่ 5 – 8 ปีขึ้นไป จะได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มเติมอีก 2 ปี แต่หากเป็นกิจการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมายและกิจการสนับสนุน ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 10 ปีอยู่แล้ว จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มอีก 1 ปี
ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอได้เห็นชอบมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแก่กิจการที่ดำเนินการอยู่เดิม ไม่ว่าจะเคยได้รับการส่งเสริมหรือไม่ก็ตาม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการองค์กรและการผลิตหรือการให้บริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน และกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้ในประเทศที่จะนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศไทย ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
โครงการที่ขอรับการส่งเสริมตามมาตรการนี้ ต้องมีขนาดการลงทุนไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) สำหรับผู้ประกอบการ SMEs กำหนดวงเงินลงทุนเพียง 500,000 บาท โดยต้องเสนอแผนลงทุนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ยกระดับกระบวนการทำงาน โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนด้านเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ เช่น การนำซอฟต์แวร์หรือระบบสารสนเทศอื่นๆ เข้ามาบริหารจัดการทรัพยากรของกิจการการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) Machine Learning การนำ Big Data มาใช้ หรือการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) การนำซอฟต์แวร์หรือระบบสารสนเทศมาใช้ในการเข้าสู่ระบบ National E–Payment และระบบอื่นๆ ของหน่วยงานภาครัฐ เป็นต้น โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินลงทุน โดยยื่นขอรับการส่งเสริมได้ถึงวันทำการสุดท้ายของปี 2565