สังคมไทยยิ่งตระหนกมากขึ้น เมื่ออาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ออกมาให้ข่าวทางสื่อว่า ความเสียหายเชิงเศรษฐศาสตร์หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ต้นทุนทางสังคมที่เกิดจากฝุ่นพิษ PM2.5 มีมูลค่าความเสียหายมากถึง 13.37% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หรือ 2.26 ล้านล้านบาท เฉพาะกรุงเทพฯมูลค่าความเสียหายจากฝุ่นพิษสูงถึง 4.51 แสนล้านบาท
ผมคาดว่าตัวเลขความสูญเสียทางเศรษฐกิจนี้ คงคำนวณมาจากการเจ็บป่วยและตายก่อนวัยอันควรจากมลพิษทางอากาศตามที่องค์การอนามัยโลกประเมินว่า ตายมากถึง 5 หมื่นคนต่อปี
เรารู้ว่าคนไทยตายจากอุบัติเหตุจราจร 2 หมื่นกว่าคนต่อปี คิดเป็นค่าเสียหาย 5 แสนล้านบาท หรือ 5% GDP
หากคนไทยตายจากฝุ่น PM2.5 ห้าหมื่นคน ค่าดูแลรักษาและค่าเสียหาย ก็อาจสูงได้ถึง 13 % GDP
ฝุ่น PM2.5 ไม่ได้ก่อโรคใหม่ แต่ถูกจัดเป็นปัจจัยใหม่ในการทำให้เกิดโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ Non communicable diseases (NCDs) เช่น จัดให้โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังร้อยละ 40 โรคเบาหวานร้อยละ 20 โรคหัวใจขาดเลือดร้อยละ 20 โรคสมองขาดเลือดร้อยละ 26 โรคมะเร็งปอดร้อยละ 20 เกิดจากมลพิษทางอากาศ
เราทราบดีว่าโรคเรื้อรังไม่ติดต่อมีมานานแล้ว เป็นสาเหตุการตายของคนไทยร้อยละ 75 ของการเสียชีวิตทั้งหมด หรือราวปีละ 320,000 คน ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล การแยกว่าฝุ่น PM2.5 ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เป็นการนับซ้ำ (double counting) หรือเปล่า
จำนวนคนตายจากฝุ่นเป็นแค่สมมุติฐาน ไม่มีการพิสูจน์ ผมฟังหูไว้หู ไม่เชื่อว่าจำนวนคนตายจากฝุ่นจะมากขนาดนั้น
ขนาดโรคโควิด-19 ทำให้เกิดความเสียหายของเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรงร้อยละ 7-8 ยังไม่ถึงร้อยละ 13 ส่วนตัวผมไม่เชื่อว่าฝุ่น PM2.5 จะทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจของไทยมากเท่าโรคโควิด-19