องค์การอนามัยโลกกำหนดค่ามาตรฐานของฝุ่น PM2.5 ไม่ให้เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรใน 24 ชั่วโมง ตัวเลข 25 ไม่ได้บอกว่าปลอดภัย นักวิจัยตั้งสมมติฐานเปรียบเทียบอันตรายของฝุ่น 25 มคก./ลบ.ม.(22-28) ใน 24 ชม.เท่ากับสูบบุหรี่ 1 มวน/วัน (ดูรูป)
ประเทศไทยตั้งค่ามาตรฐานที่ 50 มคก./ลบ.ม.ใน 24 ชม.เท่ากับสูบบุหรี่ 2 มวน ถ้าบางวันค่าฝุ่น PM2.5 ขึ้นไปเป็น 75 หรือ 100 ก็เท่ากับสูบบุหรี่ 3 หรือ 4 มวน/วัน (ประเทศไทยดีกว่าประเทศอินเดีย บางวันในประเทศอินเดียค่าฝุ่น PM2.5 เท่ากับสูบบุหรี่ 25 มวน)
ใน 1 ปีกรุงเทพฯมีวันที่ฝุ่น PM2.5 เกิน 50 มคก./ลบ.ม. ประมาณ 50 วัน บวกกับ 315 วันที่เหลือประมาณ 25 มคก./ลบ.ม.จะเท่ากับสูบบุหรี่ประมาณ 200 + 315 = 515 มวน /ปี อันตรายจากการสูบบุหรี่มากกว่ามลพิษทางอากาศเป็น 10-20 เท่า มีข้อมูลคนสูบบุหรี่อายุเฉลี่ยสั้นกว่าคนไม่สูบถึง 10 ปี สำหรับมลพิษทางอากาศทำให้อายุเฉลี่ยสั้นลง 0.8-1.6 ปี
การหายใจควันบุหรี่หรือฝุ่น PM2.5 ต้องใช้เวลากว่า 20 ปี จะเกิดโรคต่างๆ เช่นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง โรคมะเร็งปอด โรคหลอดเลือดโคโรนารีย์อุดตัน โรคเส้นเลือดในสมองตีบตัน โรคเบาหวาน โรคเรื้อรังไม่ติดต่อเหล่านี้ไม่ได้เกิดทันทีหลังหายใจฝุ่น และไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคนด้วย แล้วแต่พันธุกรรมของแต่ละคน
คนในประเทศที่มีค่าฝุ่น PM2.5 ต่ำกว่าค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ก็ยังเสียชีวิตจากโรคเรื้อรังนี้ แพทย์เองไม่สามารถบอกได้ว่า คนไหนที่ไม่สูบบุหรี่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังเหล่านี้ เกิดจากการหายใจฝุ่น PM2.5
ติดตามตอนต่อไปครับ