ตามไปดูว่า "ข้าราชการไทย" มีรายได้เฉลี่ยเดือนละเท่าไหร่ แล้วส่วนใหญ่เป็นหนี้เพราะอะไร?
ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำวันที่ 8 ม.ค. นายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากผลการสำรวจภาวะการครองชีพของข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ. 2555 ตามที่สำนักงานสถิติแห่งชาติเสนอ พบว่า
รายได้ของครอบครัวราชการทุกประเภทและระดับตำแหน่งทั่วประเทศ มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 49,915 บาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าตอบแทนที่ได้รับประจำจากการทำงาน เช่น เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และเงินเพิ่มเติม ร้อยละ 83 รองลงมาคือรายได้จากการประกอบธุรกิจส่วนตัว คิดเป็นร้อยละ 9.4 อื่นๆ เป็นค่าเบี้ยประชุม เงินช่วยเหลือ และจากการให้เช่าสินทรัพย์ เป็นต้น
เมื่อดูค่าใช้จ่ายของครอบครัวราชการแล้ว พบว่า ครอบครัวข้าราชการมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 41,081 บาท เมื่อหักลบกับรายได้แล้ว เหลือประมาณ 8,834 บาท โดยค่าใช้จ่ายจำแนกได้ดังนี้ ค่าอาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 20.6 ค่าเดินทาง การสื่อสาร ร้อยละ 15.1 ค่ายานพาหนะ อุปกรณ์ ร้อยละ 13.5 ค่าเบ็ดเตล็ด ร้อยละ 9.2 ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ร้อยละ 8.4
นอกจากนี้ ยังมีค่าการศึกษา ร้อยละ 7 ความบันเทิง ร้อยละ 5.4 ค่ายา-ค่ารักษาพยาบาล ร้อยละ 3.5 ค่าที่อยู่อาศัย 2.6 ค่าจ้าง ค่าใช้จ่ายสมทบ ร้อยละ 1.3 ที่เหลือเป็นค่าภาษี ค่าซื้อสลากกินแบ่ง และค่าอื่นๆ
ขณะที่การสำรวจด้านหนี้สิน พบว่า ทุกครอบครัวมีหนี้สินร้อยละ 83.2 หรือมีจำนวนหนี้เฉลี่ย 1,111,425 บาทต่อครอบครัวที่มีหนี้ ซึ่งข้าราชการประเภททั่วไปเป็นหนี้มากที่สุด ร้อยละ 86.3 รองลงมาคือข้าราชการประเภทวิชาการและอำนวยการ ร้อยละ 83.4 และ 65.5 ตามลำดับ
ส่วนข้าราชการประเภทบริหารมีสัดส่วนที่เป็นหนี้ต่ำสุด หรือร้อยละ 31.9 ทั้งนี้ จำนวนเงินที่เป็นหนี้กลับพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามประเภทและลำดับตำแหน่งที่สูงขึ้น กล่าวคือ ประเภทบริหารมีจำนวนหนี้สินเฉลี่ยสูงสุด หรือ 1,511,645 บาท และข้าราชการประเภททั่วไปมีหนี้สินเฉลี่ยต่ำสุด หรือ 996,931 บาท
วัตถุประสงค์ของการเป็นหนี้ พบว่า มาจากค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัย ร้อยละ 54.7 รองลงมาเป็นหนี้เพื่อซื้อหรือซ่อมแซมยานพาหนะ ร้อยละ 16.5 ค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภค ร้อยละ 15.4 ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในธุรกิจของครอบครัว ร้อยละ 5.9 และหนี้สินเพื่อการศึกษา ร้อยละ 3.6
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบรายได้ ค่าใช้จ่าย หนี้สินต่อรายได้ ในปี 2551-2555 พบว่า ครอบครัวข้าราชการมีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่าย หรือรายได้มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นจาก 41,139 บาทในปี 2551 เป็น 43,650 บาท และ 49,915 บาท ในปี 2553 และ 2555 ตามลำดับ
ค่าใช้จ่ายในปี 2553 ลดลงจากปี 2551 เล็กน้อย ก่อนจะเพิ่มขึ้นในปี 2555 หรือจาก 32,411 บาท ในปี 2551 เป็น 41,081 บาท ในปี 2555 ขณะที่สัดส่วนของการเป็นหนี้ลดลงจากร้อยละ 84 ในปี 2551 เป็นร้อยละ 83.2 ในปี 2555 แต่จำนวนหนี้เพิ่มขึ้น หรือจาก 749,771 บาท ในปี 2551 เป็น 1,111,425 บาท ในปี 2555
เช่นเดียวกับหนี้สินต่อรายได้ของครอบครัวข้าราชการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 18.2 เท่า ในปี 2551 เป็น 20 เท่าในปี 2553 และ 22.3 เท่า ในปี 2555
ข้อมูลจาก มติชนออนไลน์
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1357638042&grpid=01&catid=&subcatid= วันที่ 08 มกราคม พ.ศ. 2556 เวลา 22:22:22 น.