วันนี้ (๑๔ มกราคม ๒๕๖๔) ณ ห้องประชุมราชสีห์ อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะผู้บริหารระดับสูงในสังกัดกระทรวงฯ ร่วมประชุมทางไกลผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (Video Conference System) กับ ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ในการขอความร่วมมือหน่วยงานระดับพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนภารกิจสำคัญและเป็นประเด็นเร่งด่วน ในโอกาสที่ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประชุมชี้แจงข้อราชการสำคัญกับผู้ว่าราชการจังหวัด
โดยประเด็นสำคัญเร่งด่วนที่ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ขอประสานความร่วมมือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดไปยังหน่วยงานระดับพื้นที่ของกระทรวงมหาดไทย
ทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจที่สำคัญทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระดับพื้นที่นั้น มี ๔ ประเด็นหลัก ได้แก่
ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาจัดตั้งชุดปฏิบัติการมวลชนลงพื้นที่สร้างการรับรู้ ความเข้าใจและเข้ามามีส่วนในการลดต้นเหตุการเกิดไฟป่า หมกควัน และ PM 2.5 โดยชุดปฏิบัติการนี้จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง ทส. ฝ่ายปกครอง ทหาร และจิตอาสาพระราชทาน รวมถึง ส่งเสริมบทบาทของเครือข่ายภาคประชาชน อบต. นายอำเภอ ผู้นำชุมชน ให้เข้ามาร่วมดำเนินการด้วย โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดจะเป็นหน่วยงานสนับสนุนทางวิชาการ
นอกจากนั้น ขอให้แต่ละจังหวัดลดและควบคุมการเผาในพื้นที่เกษตรอย่างเข้มงวด โดยขอให้เกษตรและสหกรณ์จังหวัดจัดทำข้อมูลแปลงเกษตรที่มีการเผาซ้ำซาก รายงานผู้ว่าราชการจังหวัด ในการนี้ หน่วยงานของ ทส. จะจัดทำแผนและผลการป้องกันแก้ไขไฟป่า หมอกควัน และ PM 2.5 รวมถึงรายงานคุณภาพอากาศ จุดความร้อน รายงานผู้ว่าราชการจังหวัดอีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษอื่น ๆ เช่น การจราจร ภาคอุตสาหกรรม ควบคู่ไปด้วย
ขอให้ทุกจังหวัดเร่งรัดขับเคลื่อนโครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่า ตามคู่มือที่ ทส. ได้จัดทำไว้ กำหนดไว้ ๒.๖๘ ล้านไร่ในปี ๒๕๗๐ โดยปี ๒๕๖๔-๒๕๖๕ เร่งรัดดำเนินการในพื้นที่ต้นน้ำ ๑๒ จังหวัดเร่งด่วน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ตาก น่าน พะเยา ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน ชัยภูมิ นครศรีธรรมราช และนครราชสีมา โดยจังหวัดอื่นดำเนินการในส่วนของการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งในและนอกเขตป่าร่วมกับชุมชน อปท. และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่
นอกจากนั้น ได้ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่าระดับจังหวัดให้แล้วเสร็จ ภายในเดือนมกราคม ๒๕๖๔ และขอให้มอบหมายนายอำเภอ ปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ ทส. และเครือข่ายจิตอาสาพระราชทาน ในการสร้างความเข้าใจกับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ป่าต้นน้ำ พร้อมทั้ง ขอให้มีโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน ในการปลูกป่าต้นน้ำ เพิ่มพื้นที่สีเขียว อีกทั้ง ขอให้พิจารณาประสานองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับชุมชน ในการจัดตั้งเรือนเพาะชำชุมชน เพื่อจัดเตรียมกล้าไม้สำหรับฟื้นฟูป่าในพื้นที่ด้วย
ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเร่งรัดให้เกิดการอนุญาตการเข้าทำประโยชน์ของชุมชนในพื้นที่ ป่าสงวนแห่งชาติ โดยในปี ๕๘ - ๖๔ กำหนดเป้าหมาย จำนวน ๓๗๕ พื้นที่ หรือ ๑,๘๙๐,๖๔๘ ไร่ ใน ๖๓ จังหวัด รวมถึง ขอให้มอบหมายเกษตรจังหวัดและนายอำเภอที่เกี่ยวข้องประสาน หน่วยงานของ ทส. ในพื้นที่ ในการสำรวจพื้นที่สนับสนุนแหล่งน้ำ และขอให้มีการประสานหน่วยงานอื่นในการสร้างอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่ คทช.
ทั้งนี้ ยังมีพื้นที่จำนวน ๔.๗๕ ล้านไร่ ในการสำรวจและรังวัดแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ให้ครบถ้วนแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน ๒๕๖๔
การขออนุญาตการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ก่อสร้างไปก่อนได้รับการอนุญาตนั้น ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งส่วนราชการที่ยื่นคำขอ จัดเตรียมรายละเอียดประกอบคำขอให้ถูกต้อง ครบถ้วน ให้กับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด หรือ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่โดยเร่งด่วน
ส่วนการขออนุญาตการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ (โครงการใหม่) ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยื่นคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ภายใน ๓๑ มกราคม ๒๕๖๔ พร้อมทั้งกำกับให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ ตรวจสอบพื้นที่รวมถึงเอกสารให้ถูกต้อง ครบถ้วน เพื่อทยอยเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดลงนามภายใน ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ โดย ทส. จะได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม ๒๕๖๔