คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 เพื่อเร่งรัดการสรรหาและบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ที่มา
สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 ให้สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. รวมทั้งส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินการสรรหา การสอบคัดเลือก และการบรรจุแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ หรือปฏิบัติงาน
ในหน่วยงานของรัฐเพื่อทดแทนอัตราว่างจากการเกษียณอายุและอัตราตั้งใหม่ที่ได้รับการจัดสรรไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้มีการบรรจุแต่งตั้ง แล้วเสร็จโดยเร็ว ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำงานของประชาชนและบรรเทาผลกระทบของการว่างงานจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) นั้น
เพื่ออนุวัติให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว สำนักงาน ก.พ. ขอรายงานการดำเนินการ จำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ เรื่องที่ 1 การเร่งรัดการสรรหาและบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ กับเรื่องที่ 2 แนวทางเพิ่มโอกาสการจ้างงานผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของส่วนราชการ จึงจำเป็นต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบและสั่งการตามที่เห็นสมควรต่อไป
ผลการดำเนินการของสำนักงาน ก.พ.
เรื่องที่ 1 เรื่อง การเร่งรัดการดำเนินการสอบเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ
1. แนวทางการเพิ่มโอกาสและช่องทางการสมัครสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก.) ประจำปี 2564
สำนักงาน ก.พ. จะร่วมมือกับสถาบันการศึกษาที่ร่วมจัดสอบให้ดำเนินการเสร็จสิ้นในช่วงกลางปี ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และมาตรการทางสาธารณสุข โดยสำนักงาน ก.พ.
จะเร่งตรวจและประกาศผลสอบภายในเดือนสิงหาคม 2564 ทั้งนี้ ได้มีแผนการเพิ่มจำนวนที่นั่งสอบจากปีที่แล้วให้สามารถรองรับจำนวนผู้สมัครสอบในปีนี้ในภาพรวมได้ถึง 847,528 ที่นั่ง (โดยยังไม่นับรวมการจัดสอบภาค ก. พิเศษ ให้แก่ส่วนราชการที่ประสงค์จะเปิดรับสมัครสอบบุคคลเข้ารับราชการโดยไม่ต้องรอผลการสอบภาค ก. ตามความต้องการของส่วนราชการ)
2. แนวทางการเรียกบรรจุบุคคลเข้ารับราชการจากบัญชีผู้สอบแข่งขันได้
สำนักงาน ก.พ. จะเร่งประสานงานกับส่วนราชการต่าง ๆ ให้เร่งรัดการเรียกบรรจุบุคคลเข้ารับราชการจากบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ของส่วนราชการต่าง ๆ รวม 29,831 คน จาก 142 บัญชี ที่ส่วนราชการเองสามารถใช้เรียกบรรจุได้ทันทีเมื่อมีอัตราว่าง หรือส่วนราชการอื่นที่มีอัตราว่างในชื่อตำแหน่งเดียวกัน หรือต้องการผู้มีคุณวุฒิอย่างเดียวกันก็สามารถร่วมขอใช้บัญชีผู้สอบแข่งขันได้จากส่วนราชการอื่น เพื่อนำไปพิจารณาประเมินความเหมาะสมและบรรจุผู้สอบผ่านการแข่งขันให้เข้ารับราชการได้โดยไม่จำเป็นต้องจัดสอบแข่งขันเอง อันจะช่วยลดขั้นตอนการสรรหาและบรรจุบุคคลเข้ารับราชการได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้น พบว่า ขณะนี้มีส่วนราชการที่อยู่ระหว่างดำเนินการจัดสอบแข่งขัน จำนวน 35 ส่วนราชการ โดยประกาศจำนวนอัตราว่างที่จะบรรจุ จำนวน 885 อัตรา
3. การสนับสนุนการบรรจุบุคคลเข้ารับราชการโดยวิธีอื่น นอกเหนือจากวิธีการสอบแข่งขัน
สำนักงาน ก.พ. จะเร่งชี้แจงทำความเข้าใจส่วนราชการถึงช่องทางและวิธีการอื่นที่ส่วนราชการสามารถเลือกใช้เพื่อการพิจารณาบรรจุบุคคลเข้ารับราชการนอกเหนือจากวิธีการสอบแข่งขันข้างต้น อันได้แก่ การบรรจุผู้ได้รับคัดเลือก การบรรจุผู้มีความรู้ความชำนาญงานสูง (Lateral Entry) การรับโอนข้าราชการพลเรือนสามัญ หรือข้าราชการ/พนักงานตามกฎหมายอื่น รวมทั้งการบรรจุกรณีพิเศษอื่น ๆ เช่น การบรรจุนักเรียนทุนรัฐบาล คนพิการ ทายาทของข้าราชการพลเรือนสามัญที่เสียชีวิต ทุพพลภาพ หรือพิการจนต้องออกจากราชการอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ เป็นต้น ซึ่งนับเป็นทางเลือกในการสรรหาผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์
ในงานด้านต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนภารกิจของส่วนราชการเข้ารับราชการได้ทั้งในระดับแรกบรรจุ หรือสูงกว่าระดับแรกบรรจุ
4. การสำรวจสถานะอัตราว่างของทุกส่วนราชการ
เพื่อให้การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สำนักงาน ก.พ. ได้ทำการสำรวจสภาพการบริหารจัดการอัตราว่างของข้าราชการของทุกส่วนราชการ (149 ส่วนราชการ) เพื่อให้เห็นถึงสภาพข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีตำแหน่งแรกบรรจุที่ว่างหรืออยู่ระหว่างการสรรหา ตำแหน่งที่อยู่ระหว่างการเลื่อน โอน ย้าย หรือตำแหน่งที่มีแผนปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งเป็นระดับสูงขึ้น หรือต้องยุบเลิกตำแหน่ง รวมทั้งตำแหน่งเกษียณอายุที่อยู่ระหว่างเสนอ อ.ก.พ.กระทรวงเพื่อพิจารณาจัดสรรคืนให้กับส่วนราชการ ตลอดจนสภาพปัญหา อุปสรรค หรือข้อจำกัดที่ทำให้ส่วนราชการไม่สามารถดำเนินการบรรจุบุคคลเข้ารับราชการได้ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการวางแผนและสนับสนุนการสรรหา การสอบคัดเลือก ตลอดจนแก้ปัญหาการบริหารทรัพยากรบุคคลให้กับส่วนราชการ โดยได้กำหนดให้ส่วนราชการรายงานผลให้ทราบภายในวันที่ 21 มกราคม 2564 และจะได้วิเคราะห์สรุปรายงานผลให้ทราบในคราวต่อไป
เรื่องที่ 2แนวทางเพิ่มโอกาสการจ้างงานผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของส่วนราชการ
1. การจ้างพนักงานราชการตามกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ รอบที่ 5 (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - 2567)
คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2563 มีมติเห็นชอบอนุมัติกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ รอบที่ 5 (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - 2567) จำนวน 219,849 อัตรา และกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการที่ได้รับจัดสรรเพื่อรองรับการทดแทนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุ จำนวน 1,308 อัตรา (รวมทั้งสิ้น 221,157 อัตรา) โดยส่วนราชการได้จัดทำสัญญาจ้างพนักงานราชการตามกรอบอัตรากำลังที่ได้รับอนุมัติแล้ว และยังมีกรอบอัตรากำลังที่ว่างประมาณ 10,537 อัตรา ซึ่งส่วนราชการ
อยู่ระหว่างขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ และหากได้รับจัดสรรงบประมาณแล้วก็จะสรรหาบุคคลเป็นพนักงานราชการต่อไป
2. COVID-19) ด้วยระบบพนักงานราชการ
คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 มีมติรับทราบมติ คพร. เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2563 เห็นชอบแนวทางการเพิ่มโอกาสให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ด้วยระบบพนักงานราชการ เพื่อช่วยบรรเทาสภาวะเศรษฐกิจ การว่างงานภายในประเทศ เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการจ้างงานกลุ่มผู้สำเร็จการศึกษาและอยู่ระหว่างหางานทำ ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนงาน และ/หรือผู้ที่ถูกเลิกจ้างจากภาคส่วนอื่นมีโอกาสได้รับการจ้างงานและสั่งสมประสบการณ์การทำงานในหน่วยงานของรัฐ โดยมีหลักการสำคัญ คือ เป็นการจ้างงานระยะสั้น เพื่อบรรจุบุคคลเข้าปฏิบัติงานโดยเร็ว ซึ่ง คพร. จะพิจารณาจัดสรรกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการเป็นกรณีพิเศษให้แก่ส่วนราชการเพื่อจ้างพนักงานราชการได้ไม่เกิน 2 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2565) เน้นการกระจายการจ้างงานลงสู่ระดับพื้นที่ ตลอดจนกำหนดรูปแบบการจ้าง อัตราค่าตอบแทน วิธีการสรรหาและการบริหารการจ้างเป็นการเฉพาะ เพื่อให้ส่วนราชการดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว คล่องตัว นั้น ขณะนี้ สำนักงาน ก.พ. อยู่ระหว่างหารือร่วมกับสำนักงบประมาณเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการจ้างงานพนักงานราชการและหากได้รับงบประมาณแล้วจะเร่งดำเนินการจัดสรรกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการให้แก่ส่วนราชการตามความจำเป็น ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการจ้างงานและบรรเทาผลกระทบของการว่างงานจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้อีกทางหนึ่ง
โดยสรุปการดำเนินการทั้งสองเรื่องดังกล่าว จะสามารถตอบสนองข้อสั่งการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 ที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานในภาคราชการพลเรือน และเพิ่มโอกาสในการทำงานของประชาชนและบรรเทาผลกระทบของการว่างงานจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตลอดจนเป็นช่องทางให้ส่วนราชการได้คัดเลือกบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถ ทักษะและสมรรถนะที่สอดคล้องกับความจำเป็นของภารกิจเข้าสู่ระบบราชการ
อย่างไรก็ดี เพื่อให้การบริหารอัตรากำลัง งบประมาณ และการขับเคลื่อนภารกิจของส่วนราชการ เป็นไปอย่างยืดหยุ่น คล่องตัว สามารถตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลและยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับบริบทการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะประชุมหารือร่วมกันเพื่อกำหนดนโยบายและทิศทางการบริหารงาน การบริหารงบประมาณ และการบริหารทรัพยากรบุคคลร่วมกันทั้งระบบ นำไปสู่การปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หลักเกณฑ์และวิธีการบริหารจัดการแบบองค์รวม ทั้งการวางแผนการปรับปรุงโครงสร้างส่วนราชการ การใช้จ่ายงบประมาณและการบริหารอัตรากำลังในภาพรวมต่อไป