รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์เพชรลานนา จ.ลำปาง ปลูก เก็บเกี่ยวกัญชามีมาตรฐาน ปลอดภัย ถูกกฎหมาย ส่งผลิตเป็นน้ำมันกัญชาและส่วนประกอบในตำรับยาแผนไทย สร้างรายได้ให้ชุมชน พร้อมมอบเมล็ดพันธุ์กัญชาให้กับตัวแทนวิสาหกิจชุมชน
วันนี้ (29 มกราคม 2564) ที่วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์เพชรลานนา จ.ลำปาง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารสุข แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้ากลุ่มผู้ปลูกกัญชาทางการแพทย์ โดยนายอนุทินสัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้ประชาชนเข้าถึงการใช้กัญชาและสมุนไพรทางการแพทย์ได้อย่างปลอดภัย มีการถ่ายทอดความรู้ให้กับวิสาหกิจชุมชนต่างๆ เพื่อให้มีการกระบวนการเพาะปลูกกัญชาเหมาะสมกับพื้นที่ และต่อยอดให้เกิดการสร้างรายได้ให้กับประชาชน ชุมชน ดำเนินการได้อย่างถูกต้อง ถูกกฎหมาย เก็บเกี่ยวส่งให้กับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข นำไปผลิตเป็นน้ำมันกัญชา และใช้เป็นส่วนประกอบในตำรับยาทางการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน
นายอนุทินกล่าวต่อว่า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์เพชรล้านนา ได้ร่วมกับคณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปลูกกัญชาสายพันธุ์ไทย ระบบแปลงเปิด ใช้กลไกตามธรรมชาติ ในพื้นที่ 3,908 ตรม. จำนวน 2,000 ต้น/รอบ/ปี ได้เก็บเกี่ยวรอบแรกและส่งมอบให้กับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเด่นชัย จ.แพร่ กองพัฒนายาแผนไทย โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี และโรงพยาบาลคูเมือง จ.บุรีรัมย์ แล้ว 3,664.19 กิโลกรัม ส่วนรอบที่ 2 ปลูกแล้ว 2,000 ต้น (อายุ 3 เดือน)
“ผมมั่นใจว่าพืชกัญชา จะเป็นทางเลือกหนึ่งในการเสริมสร้างรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกร โดยใช้วิสาหกิจชุมชนเป็นต้นแบบในการสร้างโอกาส ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ถูกคุกคามจากภัยโควิด 19 เพื่อนำประโยชน์มาใช้ทางการแพทย์ แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ และยังเป็นสมุนไพรที่ใช้ในการดูแลตัวเอง ครอบครัว สร้างความแข็งแรงให้กับเศรษฐกิจของประเทศ สร้างความมั่นคงให้กับประเทศ” นายอนุทินกล่าว
ด้านแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า จังหวัดลำปาง มีคลินิกกัญชาทางการแพทย์แบบผสมผสานแผนปัจจุบันและการแพทย์แผนไทยในสถานพยาบาล 15 แห่ง ข้อมูลวันที่ 28 สิงหาคม – 25 ธันวาคม 2563 มีผู้รับการรักษา 1,235 คน ส่วนใหญ่ที่รักษาด้วยยากัญชาแผนปัจจุบันคือ โรคลมชักในเด็กรักษายาก, โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งที่มีภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง, โรคมะเร็งที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการได้รับยาเคมีบำบัด และปวดเส้นประสาทที่รักษาด้วยวิธีการต่างๆ แล้วไม่ได้ผลส่วนการรักษาด้วยตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม ได้แก่ นอนไม่หลับ ปวดเรื้อรัง และมะเร็ง เป็นต้น