รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดงานปลูกกัญชา 6 ต้น โนนมาลัยโมเดลแห่งแรกที่ จ.บุรีรัมย์ พร้อมมอบต้นกล้ากัญชาให้วิสาหกิจชุมชน 7 ครัวเรือนปลูกในแปลงที่มีรั้วรอบ ส่งช่อดอกและเมล็ดให้รพ.คูเมือง ผลิตยาดูแลผู้ป่วยในชุมชน ส่วนใบ ราก กิ่งก้านที่ปลดล็อคไม่เป็นยาเสพติด พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ สร้างรายได้ชุมชน เบื้องต้นมี 251 รพ.สต. 2,510 ครัวเรือน ใน 46 จังหวัด ร่วมโครงการ
วันนี้ (11 กุมภาพันธ์ 2564) ที่บ้านโศกนาค ต.หินเหล็กไฟ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และนายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดงาน “การปลูกกัญชา 6 ต้น โนนมาลัยโมเดล” มอบต้นกล้ากัญชาสายพันธุ์หางกระรอกที่เป็นสายพันธุ์พื้นเมือง จ.สกลนคร แก่ชาวบ้าน ต.หินเหล็กไฟ ที่รวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชน 7 ครัวเรือนที่ได้รับอนุญาตในการปลูกกัญชา
นายอนุทินกล่าวว่า รัฐบาลได้เดินหน้านโยบายกัญชาทางการแพทย์ ให้เป็นพืชสมุนไพรนำมาใช้ทางการแพทย์และสุขภาพ และผลักดันเป็นพืชเศรษฐกิจ รื้อฟื้นภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนาวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูก การผลิตอย่างเป็นระบบ นำบางส่วนของกัญชามาแปรรูปเป็นสินค้าจำหน่าย เปิดโอกาสสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน โดยกำหนดการดำเนินงานที่รัดกุมไม่ให้เกิดผลกระทบทางสังคม และแก้ไขกฎหมายเพื่อให้คนไทย ผู้ป่วย หมอพื้นบ้านใช้ประโยชน์ได้ง่ายขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งให้รัฐสภาพิจารณาแก้ไข สำหรับโมเดลการปลูกกัญชา 6 ต้น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จะมอบต้นกล้ากัญชาให้แก่วิสาหกิจชุมชน ซึ่งจดทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลูกครัวเรือนละ 6 ต้น ส่งช่อดอกและเมล็ดให้โรงพยาบาลในพื้นที่ที่มีแพทย์แผนไทย นำไปผลิตเป็นยาปรุงเฉพาะรายสำหรับจ่ายผู้ป่วยในชุมชน โดยจำนวนการปลูกกัญชาสามารถเพิ่มขึ้นได้ หากมีผู้ป่วยที่ต้องใช้กัญชาในชุมชนจำนวนมาก ส่วนอื่นๆ ของกัญชาที่ได้รับการปลดล็อค ไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด เช่น ใบ ราก ลำต้น กิ่งก้าน พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อจำหน่าย เช่น ยาหม่อง สบู่ แชมพู เป็นต้น ขณะนี้ได้ร่วมกับสำนักส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) อบรมวิสาหกิจชุมชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ช่วยให้มีรายได้เข้าสู่ชุมชน มีรพ.สต.โนนมาลัย จ.บุรีรัมย์ เป็นต้นแบบดำเนินการแห่งแรก และจะขยายไปทุกเขตสุขภาพทั่วประเทศ เบื้องต้นมีรพ.สต. 251 แห่งใน 46 จังหวัด เข้าร่วมโครงการ รวม 2,510 ครัวเรือน คิดเป็นการปลูกกัญชาทั้งหมด 15,060 ต้น
“การปลูกกัญชา 6 ต้น โนนมาลัยโมเดล ถือเป็นการเปิดประวัติศาสตร์ เป็นจุดเริ่มต้นที่ประชาชนจะปลูกกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ทางสุขภาพ และแปรรูปสินค้าจำหน่ายสร้างรายได้ โดยจะต้องรวมเป็นวิสาหกิจชุมชน ทำร่วมกับหน่วยงานรัฐ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และจะกระจายโมเดลนี้ไปทั่วทุกแห่งในประเทศไทย” นายอนุทินกล่าว
ทั้งนี้ นายอนุทินได้ประชุมมอบนโยบายแก่ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขทุกเขตสุขภาพผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เน้นย้ำให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่วิสาหกิจชุมชนให้มีความรู้ความเข้าใจกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อส่งเสริมนโยบายกัญชาทางการแพทย์และการปลูกกัญชา 6 ต้นระดับครัวเรือน
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ดำเนินโครงการพัฒนาต้นแบบการปลูกกัญชาเพื่อใช้สำหรับการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองใน รพ.สต.โนนมาลัย โดยทำงานร่วมกับสถาบันกัญชาทางการแพทย์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ โรงพยาบาลคูเมือง และ รพ.สต.โนนมาลัย เพื่อให้เกิดการเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ที่ปลอดภัย คาดว่าผลการดำเนินการตามแผนการขับเคลื่อนกัญชาทางการแพทย์แผนไทย ปี 2564 จะส่งผลให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์แผนไทยที่ถูกกฎหมาย มีมาตรฐาน ปลอดภัย ลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนในการดูแลสุขภาพ สำหรับการปลูกในครัวเรือนต้องมีรั้วรอบ มีแนวทางการควบคุมไม่ให้เข้าถึงโดยง่ายหรือเล็ดลอด