วธ.เผยผลโพลวาเลนไทน์ปี”64 ในสถานการณ์โควิด-19 ร้อยละ 70.13 มอบความรักพ่อแม่ รองลงมาคนรักของขวัญอยากให้ดอกกุหลาบ/พวงมาลัย-หน้ากากอนามัย-บอกรักด้วยคำพูด-แอลกอฮอล์เจล/สเปรย์ วางแผนใช้เวลาอยู่กับครอบครัวดูภาพยนตร์-ละคร ทำบุญตักบาตร ทำอาหารด้วยกัน ซื้อของขวัญให้คนรัก
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(รมว.วธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิตสำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชนและประชาชนที่มีต่อ“วันแห่งความรักในสถานการณ์โควิด-19”(14 กุมภาวันวาเลนไทน์)จากกลุ่มตัวอย่างทุกอาชีพ 4,403 คนครอบคลุมทั่วประเทศ โดยผลสำรวจพบว่า เด็ก เยาวชนและประชาชนร้อยละ 48.29 ให้ความสำคัญกับวันวาเลนไทน์พอๆกับทุกปีที่ผ่านมา รองลงมาร้อยละ 25.03 ไม่ได้ให้ความสำคัญ ร้อยละ 11.49 ให้ความสำคัญน้อยกว่าทุกปีที่ผ่านมา ร้อยละ 8.31 ให้ความสำคัญมากกว่าทุกปีที่ผ่านมาและร้อยละ 6.88 ให้ความสำคัญมากที่สุด ส่วนบุคคลที่ผู้ตอบแบบสอบถามอยากมอบความรักหรือส่งความรู้สึกที่ดีหรือให้สิ่งของในวันวาเลนไทน์มากที่สุดพบว่าร้อยละ70.13 คือพ่อแม่/ผู้ปกครอง รองลงมา ร้อยละ 38.50 คนรัก/แฟน ร้อยละ 38.00 เพื่อน ร้อยละ 27.69 ครูอาจารย์/ผู้มีพระคุณ ร้อยละ 22.44 บุตร/หลาน ร้อยละ 22.44 สามี/ภรรยา ร้อยละ 17.53 ญาติ ร้อยละ 15.60 เพื่อนร่วมงาน ร้อยละ 10.02 เจ้านาย/ผู้บังคับบัญชา ร้อยละ 6.65 ลูกน้อง/ผู้ใต้บังคับบัญชา ร้อยละ 6.54 ศิลปินดารา นักแสดงและคนดัง เช่น ณเดช ญาญ่า วง BTS NCT และร้อยละ 2.63 อื่นๆคือ ตัวเราเอง เด็กด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันผลสำรวจครั้งนี้ได้สอบถามถึงสิ่งที่ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่อยากมอบให้แฟน/คนรัก/พ่อแม่/ครอบครัวมากที่สุดในวันวาเลนไทน์ปีนี้ 5 อันดับแรก ได้แก่ ร้อยละ 44.47 ดอกกุหลาบ/พวงมาลัย ร้อยละ 39.02 หน้ากากอนามัย ร้อยละ 29.46 บอกรักด้วยคำพูด ร้อยละ 29.21 แอลกอฮอล์เจล/สเปรย์และร้อยละ 23.12 บอกรักผ่านสื่อโซเซียล ส่วนช่องทางในการสื่อสารในวันวาเลนไทน์นอกจากบอกรักแฟนด้วยตนเองแล้ว ยังใช้ช่องทางในการสื่อสารอื่นๆ 5 อันดับแรก ได้แก่ ร้อยละ 65.25 ไลน์ ร้อยละ 56.01 โทรศัพท์ ร้อยละ 38.84 ช่องทางแชทของเฟซบุ๊ก ร้อยละ 20.12 ข้อความและร้อยละ 20.03 อินสตาแกรม
นอกจากนี้ เมื่อสอบถามถึงกิจกรรมที่จะทำเพื่อฉลองวันวาเลนไทน์กับคนรักในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 มีกิจกรรม ได้แก่ ดูภาพยนตร์ ละคร ซีรี่ย์ ใช้เวลาอยู่ร่วมกันกับคนในครอบครัว ,ซื้อของขวัญเพื่อมอบให้แก่คนที่เรารัก, ทำบุญตักบาตรกับคนรัก/คนในครอบครัว,ทำอาหารรับประทานร่วมกันกับคนรักที่บ้านและบอกรักผ่านสื่อโซเซียลมีเดีย ส่วนเรื่องที่อยากให้เกิดขึ้นในวันวาเลนไทน์ปีนี้มากที่สุดคือ การแสดงความรัก ความห่วงใยต่อพ่อแม่ ญาติพี่น้อง ครู อาจารย์และเพื่อนๆด้วยความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน,อยากให้ครอบครัวได้มีเวลาอยู่ร่วมกันมากขึ้น,อยากให้สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น,อยากให้ทุกคนแสดงความห่วงใยและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในช่วงสถานการณ์โควิด-19และได้รับของขวัญจากคนที่รัก
นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า ผลสำรวจสอบถามถึงผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 ต่อวันวาเลนไทน์พบว่า ร้อยละ 56.69 เห็นว่าไม่มีผลกระทบ รองลงมาร้อยละ 32.55 มีผลกระทบและร้อยละ10.77 ไม่แน่ใจ ขณะเดียวกันเมื่อสอบถามหากเกิดผลกระทบเกิดด้านใดต่อตัวเองมากที่สุดพบว่า ร้อยละ 49.67 กิจวัตรประจำวันที่เคยทำประจำเปลี่ยนไปจากเดิม รองลงมาร้อยละ 20.28 ความสัมพันธ์ในความรักน้อยลง ร้อยละ 16.43 โควิดก็กลัวแฟนคนรักก็อยากเจอและร้อยละ 13.61 ความเอาใจใส่ มีเวลาให้กันน้อยลง ส่วนวิธีป้องกันตัวเองเพื่อให้เหมาะสมและปลอดภัยจากสถานการณ์โควิด-19 ใน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ห่างกันสักพักให้รักเรายังเท่าเดิม 2.ให้กำลังใจกันเสมอถ้าอีกฝ่ายอยู่ในความเครียด 3.อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อคนที่คุณรัก 4. Social Distancing และ5.แชร์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้อีกฝ่ายรับรู้ถึงความรักห่วงใย นอกจากนี้ ผลสำรวจสอบถามเรื่องภาครัฐและวธ.ควรจัดกิจกรรมใดบ้างเพื่อสร้างค่านิยมที่ดีในวันวาเลนไทน์ในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 ผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่า ไม่ควรจัดเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่ดีขึ้น หากจัดกิจกรรมควรมีกิจกรรม เช่น การรณรงค์บอกรักผ่านสื่อออนไลน์ เกมออนไลน์ที่ส่งเสริมและความรู้เกี่ยวกับกิจกรรมวันแห่งความรักหรือการแสดงความรักอย่างถูกวิธี