วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ กลุ่มผู้รับสิทธิ ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” คือ กลุ่มผู้ลงทะเบียนโครงการ “คนละครึ่ง” และโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” และกลุ่มผู้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ “เราชนะ” (www.เราชนะ.com) ได้รับวงเงินงวดแรก จำนวน 2,000 บาทจากโครงการ “เราชนะ” ซึ่งเป็นมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพจำนวน 7,000 บาท ให้กับประชาชน ซึ่งประชาชนที่ได้สิทธิสามารถนำไปใช้จ่ายที่ร้านธงฟ้าที่มีเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) ร้านถุงเงินธงฟ้า ร้านค้าคนละครึ่ง และร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการเราชนะได้ นอกจากนี้ยังมีการขยายสิทธิให้สามารถใช้ได้กับระบบขนส่งสาธารณะ ได้แก่ รถแท็กซี่ รถตู้โดยสารประจำทาง สามล้อเครื่อง (ตุ๊กตุ๊ก) รถจักรยานยนต์รับจ้าง (วินมอเตอร์ไซค์) รถสองแถว รถเมล์ ขสมก. รถทัวร์ บขส. รถไฟฟ้า รวมทั้งบริการในกลุ่มสุขภาพและความงาม เช่น ร้านนวด สปา ร้านตัดผม ร้านเสริมสวย ร้านทำเล็บ รวมถึงบริการด้านสุขภาพและการแพทย์ เช่น สถานพยาบาลที่ไม่รับผู้ป่วยค้างคืน (คลินิก) แพทย์แผนจีน คลินิกรักษาทางการแพทย์อื่น ๆ รวมถึงงานรับเหมา งานช่างและงานทำความสะอาด ได้แก่ งานก่อสร้างขนาดเล็ก บริการทำสวน ตกแต่งสวน ทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ ฉีดปลวก ซักรีด ตัดเย็บซ่อมสินค้า/เสื้อผ้า ซ่อมรถยนต์/จักรยานยนต์/จักรยาน ซ่อมประปา ไฟฟ้า แอร์ และบริการที่พัก เช่น หอพัก อพาร์ตเมนท์ แฟลต ที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการที่ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ใช่นิติบุคคลที่สมัครเข้าร่วมโครงการ โดยประชาชนสามารถใช้จ่ายผ่านแอปฯ “เป๋าตัง” ซึ่งไม่จำกัดยอดใช้จ่ายและสามารถสะสมวงเงินได้จนถึงวันที่ 31 พ.ค. นี้ โดยมีผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนร่วมโครงการเราชนะแล้วกว่าเกือบ 1 ล้านราย
สำหรับไทม์ไลน์การโอนเงินให้กับผู้ได้รับสิทธิโครงการเราชนะในกลุ่มต่าง ๆ นั้น กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ได้รับวงเงินแล้วเมื่อวันที่ 5 และ 12 ก.พ. และจะได้รับวงเงินอีกครั้ง ๆ ละ 675 หรือ 700 บาทในวันที่ 19 และ 25 ก.พ. และ 5,12,19,26 มีนาคม กลุ่มผู้มีสิทธิที่เคยลงทะเบียนโครงการ “คนละครึ่ง” และโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” และกลุ่มลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ “เราชนะ” ได้รับเงินงวดแรก จำนวน 2,000 บาทในวันนี้ (18 ก.พ.) และจะได้รับเงินอีก ครั้งละ 1,000 บาท ในวันที่ 25 ก.พ. และ 4,11,18,25 มีนาคม
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีย้ำว่า โครงการ “เราชนะ” เป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่จะออกมาตรการในลักษณะ “ไฮบริด” คือ ช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตของประชาชน พร้อม ๆ กับการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในเวลาเดียวกัน ซึ่งผู้ประกอบการรายย่อย ได้แก่ พ่อค้า แม่ค้า หาบเร่ แผงลอย และผู้ประกอบการอิสระต่าง ๆ ที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทฯ ห้าง/ร้านแบบนิติบุคคล จะได้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่ได้รับสิทธิในครั้งนี้ รวมทั้งการโอนเงินตรงให้แก่ผู้รับสิทธิผ่านระบบแอปพลิเคชัน เป็นการใช้เทคโนโลยีในการยกระดับการบริหารงบประมาณแผ่นดินให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด และเป็นส่วนหนึ่งของการให้ประชาชนได้มีความคุ้นเคยกับการนำไปสู่สังคมไร้เงินสดในอนาคตอีกด้วย