ประเทศไทยได้มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็วในช่วง ๔๐ ปีที่ผ่านมา จนหลายคนคิดว่าประเทศไทยได้ก้าวพ้นความยากจนและกำลังก้าวสู่ประเทศที่พัฒนา แล้ว แต่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี ๒๕๔๐ ทุกคนจึงตื่นจากความหลงผิดและพบว่าสังคมไทยยังอ่อนด้อยในเกือบทุกเรื่อง แม้แต่ในด้านศีลธรรมที่เคยเป็นจุดแข็งของสังคมไทย ก็มีจุดอ่อนและบกพร่องอีกมาก การทุจริตประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำ ให้เกิดภาวะวิกฤตดังกล่าว ใน ชั่วข้ามคืนประเทศไทยได้เปลี่ยนจากประเทศที่เคยมีเงินตราต่างประเทศสำรอง กลับกลายเป็นประเทศที่มีหนี้ต่างประเทศจำนวนเกือบ ๓ ล้านล้านบาท สถาบันการเงินและบริษัทเอกชนหลายแห่งต้องปิดกิจการหรือล้มละลายไป คนไทยจำนวนมากตกงานและสูญเสียทรัพย์สินที่ได้สะสมมาตลอดชีวิตการทำงาน ซึ่งผลกระทบจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจดังกล่าวได้ ก่อให้เกิดผลกระทบทางสุขภาพกายและใจของคนไทยทั้งประเทศอย่างรุนแรง ประชาชนรู้สึกขาดความเชื่อมั่นในการทำงานของภาครัฐและระบบการเมืองจนกลาย เป็นปัญหาวิกฤตศรัทธา และยากต่อการดูแลรักษากฎหมายของบ้านเมือง
จากผลการวิจัยการสำรวจความคิดเห็นเรื่องคอร์รัปชันที่จัดขึ้นโดยสำนักงาน ก.พ. พบว่า หัวหน้าครัวเรือนเห็นว่าการทุจริตประพฤติมิชอบเป็นปัญหาสำคัญระดับชาติ อันดับที่สามรองจากปัญหาเศรษฐกิจและความยากจน ผู้ประกอบการเห็นว่า การทุจริตประพฤติมิชอบเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของธุรกิจ รองมาจากผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ โดยร้อยละ ๗๙ ของผู้ประกอบการยอมรับว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ธุรกิจต้องจ่ายค่าสินบนให้ แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างสะดวก โดยเห็นว่าภาครัฐส่วนใหญ่ต้องมีการหยอดน้ำมันด้วย “เงินและผลประโยชน์” งานจึงจะสำเร็จได้ แม้ข้าราชการเองก็ยังคิดว่าการทุจริตประพฤติมิชอบเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ในสังคมและเป็นเรื่องปกติทั่วไป โดยร้อยละ ๔๙ ยอมรับว่ารู้ว่ามีการซื้อขายตำแหน่งในวงราชการ ทั้งนี้ มีข้าราชการเพียงร้อยละ ๒๔ เท่านั้นที่เห็นว่ารัฐมีความตั้งใจจริงที่จะต่อสู้กับปัญหาการทุจริต คอร์รัปชันในภาคราชการ
รัฐบาลชุดที่ผ่านมาแสดงเจตนารมณ์ชัดเจนที่จะ ป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาคราชการ และเสริมสร้างประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งปฏิรูประบบบริหารราชการโดยการปรับปรุงคุณภาพข้าราชการในการทำงานโดย เน้นผลงาน การมีคุณภาพ ความซื่อสัตย์สุจริต การมีจิตสำนึกในการให้บริการประชาชน และที่สำคัญ รัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้การนำของ พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาคอร์รัปชันโดยประกาศเป็นหนึ่งในสามนโยบายหลัก ของรัฐบาล ควบคู่กับการแก้ไขปัญหาความยากจนและปราบปรามยาเสพติด
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการสร้างราชการใสสะอาด เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2543 โดยให้กำหนดเป็นนโยบายสำคัญของราชการ ประกาศเป็นแผนระดับประเทศ และให้ถือว่าการทุจริตคอร์รัปชันเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ รวมทั้งให้กระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานของรัฐจัดให้มีกลไกภายในเพื่อสร้างความใสสะอาดและโปร่งใสในการ ปฏิบัติงาน ประกอบด้วย ศูนย์ประสานราชการใสสะอาด แผนกลยุทธ์หน่วยงานใสสะอาด และรายงานผลการดําเนินการเสนอคณะรัฐมนตรีเป็นรายปี คณะรัฐมนตรีใน คราวการประชุม เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2547 และวันที่ 2 พฤศจิกายน 2547 เห็นชอบมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในวงราชการ และแนวทางดําเนินการในการพัฒนาระบบ ราชการ และมอบหมายให้สํานักงาน ก.พ. เป็นเจ้าภาพหลักการสร้างความโปร่งใส ในการปฏิบัติงาน การรณรงค์ และส่งเสริมค่านิยมรักความซื่อสัตย์ สุจริต การสนับสนุนภาคประชาชนให้มีส่วนร่วม
นอกจากนี้ แผนบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2548 – 2551 ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 6ง. การป้องกันและปราบปรามการทุจริต ได้กําหนดเป้าหมายประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ คือ ประชาชนมีความเชื่อถือในกลไกภาครัฐสูงขึ้น หน่วยงานภาครัฐทุกระดับมีการปฏิบัติงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้โดยมอบหมายให้สํานักงาน ก.พ. เป็นเจ้าภาพกลยุทธ์หลักสนับสนุนให้ภาคประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐมีค่านิยมและ ร่วมกันต่อต้านทุจริต พัฒนาความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ
ข้อมูลจาก เว็บสำนักงาน ก.พ.
http://www.ocsc.go.th/ocsc/th/index.php?option=com_content&view=article&id=2840&Itemid=270