แรงงานในระบบทุกกลุ่มต้องรู้ เกี่ยวกับกฎหมายฉบับล่าสุดที่ครม.มีมติเห็นชอบ นั่นก็คือ ร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... ซึ่งถือเป็นการสร้างวินัยการออมของประชาชนวัยทำงาน ในรูปแบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบ โดยได้รับผลประโยชน์คืนในรูปแบบการจ่ายบำเหน็จบำนาญ ทำให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพหลังเกษียณ โดยมีกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เป็นหน่วยงานกำกับดูแล
ใครบ้างที่ต้องเป็นสมาชิกของ กบช.?
ลูกจ้างที่มีอายุตั้งแต่ 15 - 60 ปี ทั้งลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวของราชการ พนักงานราชการ
เจ้าหน้าที่องค์การมหาชน และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
สำหรับการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯ กบช. จะกำหนดให้นายจ้างและลูกจ้างส่งเงินสมทบแต่ละฝ่าย ดังนี้
• ปีที่ 1 – 3 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของค่าจ้าง
• ปีที่ 4 – 6 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของค่าจ้าง
• ปีที่ 7 – 9 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 7 ของค่าจ้าง
• ปีที่ 10 เป็นต้นไป ไม่น้อยกว่าร้อยละ 7 - 10 ของค่าจ้าง
โดยกำหนดเพดานค่าจ้างสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาทต่อเดือน
กรณีลูกจ้างเงินเดือนน้อยกว่า 10,000 บาท ให้นายจ้างส่งเงินฝ่ายเดียว
หากลูกจ้างและนายจ้างต้องการส่งเพิ่ม สามารถส่งเพิ่มได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของค่าจ้าง โดยไม่จำกัดเพดานค่าจ้าง
วิธีรับเงินจาก กบช.
เมื่อสมาชิกอายุครบ 60 ปี สามารถเลือกรับบำเหน็จหรือบำนาญรายเดือนเป็นระยะเวลา 20 ปี แบ่งเป็น 3 กรณี
1. กรณีเลือกบำเหน็จ ได้รับเงินเท่ากับจำนวนเงินสะสมที่ลูกจ้างส่ง เงินสมทบจากนายจ้าง รวมผลตอบแทน
2. กรณีเลือกบำนาญ แล้วต้องการเปลี่ยนเป็นบำเหน็จก็สามารถทำได้ เช่น รับบำนาญแล้ว 5 ปี ต้องเปลี่ยนเป็นบำเหน็จ จะได้รับเงินเท่ากับเงินบำนาญ 15 ปีที่เหลือ
3. กรณีที่ทุพพลภาพหรือเจ็บป่วยจนใกล้ถึงแก่ชีวิตก่อนครบอายุ 60 ปี เมื่อออกจากงานแล้ว จะขอรับเงินสะสม เงินสมทบ บางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้
สิทธิประโยชน์ทางภาษี
ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินสะสมและเงินสมทบ เงินผลประโยชน์ และเงินที่ได้รับเมื่อเกษียณอายุ
ซึ่งการส่งเงินเข้ากองทุนฯ นี้ จะเป็นสร้างหลักประกันรายได้หลังเกษียณแก่ลูกจ้าง ทำให้นายจ้างมีการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมแก่ลูกจ้าง และการออมภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการลงทุนภายในประเทศ อีกทั้งช่วยบรรเทาภาระงบประมาณการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุในอนาคต