นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล
เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของข้าราชการและบุคคลในครอบครัว ได้ดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยซึ่งจำเป็นต้องใช้ยาที่มีค่าใช้จ่ายสูง ตั้งแต่ปี 2553 โดยกำหนดหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ายาจำนวน 3 รายการ สำหรับผู้ป่วยกลุ่มโรครูมาติก (Rheumatic Disease Prior Authorization : RDPA) ประกอบด้วย โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบติดยึด และโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์มีความก้าวหน้าเป็นอย่างสูง จึงทำให้มีรายการยาชีววัตถุ (Biologic drugs) หรือยาสังเคราะห์มุ่งเป้า (Targeted therapies) ซึ่งเป็นยาที่มีค่าใช้จ่ายสูงที่ใช้ในการรักษากลุ่มโรครูมาติกเพิ่มมากขึ้น กรมบัญชีกลางร่วมกับสมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย และผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง พิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์สำหรับผู้ป่วยกลุ่มโรครูมาติก เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีคุณภาพและครอบคลุมการรักษาที่จำเป็นมากขึ้น รวมทั้ง
เพิ่มการเข้าถึงยาในกลุ่มผู้ป่วยเด็ก โดยกำหนดรายการยาจำนวน 8 รายการ สำหรับผู้ป่วยกลุ่มโรครูมาติกให้สามารถเบิกจ่ายตรงได้ ประกอบด้วย โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคข้อและกระดูกสันหลังอักเสบ โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุ
ในเด็กชนิดมีอาการทางซิสเต็มมิก และโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กชนิดไม่มีอาการทางทางซิสเต็มมิก โดยจะเริ่มใช้สำหรับค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2564 เป็นต้นไป
การเบิกค่ายารักษาผู้ป่วยกลุ่มโรครูมาติกข้างต้นในระบบเบิกจ่ายตรง ให้สถานพยาบาลดำเนินการลงทะเบียนแพทย์ผู้รักษา ผู้ป่วย และส่งข้อมูลตามโปรโตคอลที่กำหนดในระบบ RDPA เพื่อขออนุมัติเบิกจ่ายค่ายา หรือขอต่ออายุการเบิกจ่ายค่ายา หรือขอหยุดการใช้ยา สำหรับผู้ป่วยรายเดิมที่เคยได้รับการอนุมัติเบิกจ่ายค่ายาในระบบ RDPA แล้ว ให้เบิกจ่ายตรงค่ายาได้จนกว่าจะหยุดการรักษาด้วยยาดังกล่าว
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวเพิ่มเติมว่า การเบิกจ่ายค่ายาของสถานพยาบาลที่ผ่านมามีการส่งเบิกค่ายาเกินอัตราที่กรมบัญชีกลางกำหนดส่งผลให้ต้องมีการเรียกเงินคืนค่ารักษาพยาบาลจากสถานพยาบาล และอาจเกิดข้อโต้แย้งจากสถานพยาบาล ดังนั้น เพื่อให้การส่งเบิกค่ายาของสถานพยาบาลเป็นไปอย่างถูกต้อง จึงกำหนดอัตราเบิกจ่ายค่ายา บางรายการ โดยให้ใช้กับการรักษาทุกข้อบ่งชี้ เช่น ยา Infliximab และ Secukinumab ใช้ในการรักษาสำหรับผู้ป่วยกลุ่มโรครูมาติกและผู้ป่วยกลุ่มโรคผิวหนังเรื้อรัง เป็นต้น ทั้งนี้จะมีการทบทวนอัตราการเบิกค่ายาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง สำหรับอัตราเบิกจ่ายค่ายาที่กำหนดนั้น ให้มีผลใช้บังคับสำหรับค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้น ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป