ยุคนี้เป็นยุคสังคมออนไลน์อย่างแท้จริง ยิ่งตอนนี้ทุกอย่างถูกจับลงไปในมือถือ เราจึงอยู่กับมันได้ทุกที่ ทุกเวลา ตื่นมาก็ต้องเช็กข่าวสารความเป็นไป ก่อนกินข้าวก็ต้องถ่ายรูปลงเฟซบุ๊ก เม้าท์มอยผ่านแอพแชท แม้แต่จะบ่นอะไรก็ต้องลงเฟซบุ๊ก เผื่อคนที่เราบ่นถึงจะได้ยิน ถ้าขาดไป หลายคนคงขาดใจตาย
เมื่อผู้ใช้งานมารวมกันมากๆ ย่อมมีผู้ไม่ประสงค์ดีใช้เฟซบุ๊ก เป็นเครื่องมือในการหลอกลวงและขโมยข้อมูลส่วนตัวของคุณ
รูปแบบสแปมบนเฟซบุ๊ก ก็มีมากมาย ตั้งแต่ปลอมเป็นแอพที่เห็นแล้วอยากกด ไม่ว่าจะเป็นแอพตรวจสอบว่าใครมาแอบดูโปรไฟล์คุณบ้าง แอพแต่งหน้าเฟซบุ๊ก รวมไปถึงคลิปโป๊เปลือยต่างๆ
ถ้าเผลอกดเมื่อไหร่ก็จะโดนขโมยข้อมูลแบบไม่รู้ตัว
รูปแบบการทำสแปมนี้ก็พัฒนาไปเรื่อยๆ โดยจับเอาจุดอ่อนของผู้ใช้เป็นหลัก จนหลายคนตามไม่ทัน
ล่าสุด ที่ ซี เพิ่งเจอก็คือการล่อหลอกคน ที่อยากเพิ่มจำนวนคนกดไลค์บนเฟซบุ๊ก ทั้งแฟนเพจ สเตตัส รูปภาพ หรือคอมเม้นต์ต่างๆ โดยใช้วิธีลัด ด้วยการใช้ลิงค์ Autolike ไปแปะบนหน้าแฟนเพจและไทม์ไลน์ของหลายๆ คน พร้อมบรรยายสรรพคุณว่าเพิ่มยอดไลค์ 300-700 ไลค์ได้ 100% เพียงแค่คลิกเข้าไปยังลิงค์ที่อยู่ด้านล่าง เมื่อกดเข้าไป มันก็จะพาไปยังหน้าเว็บ more-liker-facebook.weebly.com ต่อจากนั้นก็จะมีหลอกให้คุณ Access token ของเฟซบุ๊กคุณ
ถ้าหากคุณกรอกไปก็เหมือนกับการมอบสิทธิ์ให้แฮกเกอร์สามารถโพสต์รูป หรือข้อความบนเฟซบุ๊กของคุณได้ โดยไม่ได้รับอนุญาต
สแปม อีกรูปแบบนึงที่น่ากลัวก็คือ การแกล้งทำเป็นส่วนเสริมการทำงานบนบราวเซอร์ อย่าง Chrome โดยมันจะปลอมตัวเป็น Flash ที่หลายคนรู้จักเป็นอย่างดีจึงไม่เกิดการเอะใจ เมื่อหลอกให้ผู้ใช้ติดตั้งลงในเครื่องได้แล้ว มันก็จะเริ่มแพร่สแปมและแท็กเพื่อนๆ จนคุณตามลบไม่หวาดไม่ไหว
ดังนั้น ขอให้มีสติคิดไตร่ตรองให้ดีก่อนที่จะกดลิงค์ หรือสมัครลงทะเบียนกับแอพใดๆ บนเฟซบุ๊ก เพราะมันอาจจะเป็นแอพปลอมที่สร้างขึ้นมาหลอกลวงคุณ ถึงแม้แอพนั้นจะปรากฏใน
Facebook App Center นั่นไม่ได้หมายความว่า แอพนั้นจะเชื่อถือได้ 100% นะ ยิ่งถ้าแอพเหล่านั้นต้องการแชร์ข้อมูลส่วนตัว หรือข้อมูลบัตรเครดิต ก็ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่าเป็นแอพอันตรายที่จ้องจะขโมยข้อมูล ทางออกที่ดีที่สุดคือ มีสติก่อนคลิกอะไรแปลกๆ บนโลกออนไลน์ กันไว้ดีกว่าแก้ คำนี้ยังคงใช้ได้ผลทุกยุคทุกสมัยค่ะ.
ข้อมูลจาก ไทยรัฐออนไลน์ โดย ซี ฉัตรปวีณ์