น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้มีรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คนที่เรียกใช้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เกิดทางเลือกในการให้บริการรถยนต์รับจ้าง สอดคล้องกับบริบทของสังคมและวิถีการใช้ชีวิตของประชาชนในปัจจุบันที่นิยมเรียกใช้บริการผ่านแอปพลิเคชันมากขึ้น ขณะเดียวกันทางราชการสามารถควบคุมติดตามตรวจสอบเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่คนโดยสารได้ และยังช่วยส่งเสริมให้ผู้ขับรถยนต์ที่ให้บริการดังกล่าวสามารถประกอบอาชีพได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
สำหรับร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ มีรายละเอียดที่สำคัญเช่น การกำหนดนิยาม “รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า รถยนต์รับจ้างที่เกิดจากการนำรถยนต์นั่งส่วนบุคคลมาจดทะเบียนเปลี่ยนประเภทเป็นรถยนต์รับจ้าง โดยการรับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และ กำหนดให้รถยนต์รับจ้างที่จะนำมาจดทะเบียนแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ ขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ โดยให้จดทะเบียนได้คนละ 1 คัน ส่วนลักษณะของรถยนต์รับจ้างที่จะนำมาจดทะเบียนต้องมีลักษณะเป็น รถเก๋งสองตอน รถเก๋งสองตอนแวน รถเก๋งสามตอน รถเก๋งสามตอนแวน รถยนต์นั่งสองตอน รถยนต์นั่งสองตอนแวน รถยนต์นั่งสามตอน รถยนต์นั่งสามตอนแวน หรือรถยนต์ลักษณะอื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี
นอกจากนี้ยังกำหนดให้รถยนต์รับจ้างต้องมีและใช้อุปกรณ์เครื่องสื่อสารเพื่อรับงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่กรมการขนส่งทางบกให้การรับรอง ต้องแสดงเครื่องหมายแสดงการเป็นรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ติดไว้ที่ตัวรถ ต้องใช้สีของตัวถังรถตามสีที่ใช้ในการจดทะเบียนรถ และให้รถยนต์รับจ้างมีอายุการใช้งานได้ไม่เกิน 9 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียนครั้งแรก พร้อมกำหนดอัตราค่าจ้างไว้ดังนี้ รถยนต์รับจ้างขนาดเล็กและขนาดกลาง ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรกไม่เกิน 50 บาท รถยนต์ขนาดใหญ่ไม่เกิน 200 บาท ส่วน กิโลเมตรต่อๆไปรถยนต์ขนาดเล็กและขนาดกลางกิโลเมตรละไม่เกิน 12 บาท ขนาดใหญ่ 50 บาท ในกรณีที่ไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อไปได้ตามปกติวิสัยรถยนต์ขนาดเล็กและขนาดกลางคิดไม่เกินนาทีละ 3 บาท ขนาดใหญ่ 10 บาท ส่วนค่าบริการกรณีการจ้างผ่านศูนย์บริการสื่อสารหรือระบบสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์กำหนดได้ไม่เกิน 50 บาท ขนาดใหญ่ 100 บาท
ขณะเดียวกันยังกำหนดให้รถยนต์รับจ้าง ต้องมีการตรวจสภาพตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด รวมทั้งต้องรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยทั้งภายนอกและภายในตัวรถเป็นอย่างดี ต้องไม่บรรทุกสิ่งของที่ไม่จำเป็นจนทำให้ผู้โดยสารไม่ได้รับความไม่สะดวก และกำหนดให้ผู้ขับรถยนต์รับจ้างต้องแต่งกายให้สะอาด สุภาพเรียบร้อยและรัดกุม
ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมระบุว่า ปัจจุบันมีรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน ที่ได้จดทะเบียนตามกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน พ.ศ.2560 ซึ่งมีรูปแบบการบริการที่ให้ประชาชนเรียกใช้บริการบนท้องถนนทั่วไป หรือโทรศัพท์เรียก หรือเรียกผ่านศูนย์บริการสื่อสารรถยนต์รับจ้าง(แท็กซี่) ที่รถยนต์รับจ้างสังกัด โดยคิดอัตราค่าโดยสารตามมิเตอร์มีรถจดทะเบียนในระบบจำนวน 75,448 คัน และปัจจุบันมีการพัฒนาแอปพลิเคชันเรียกรถเพื่อใช้บริการในการเดินทางผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ แท็บเล็ต โดยมีการนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาใช้รับจ้างผ่านแอปพลิเคชันเป็นจำนวนมาก ซึ่งบริการดังกล่าวทำให้ผู้ใช้บริการสามารถรับรู้ค่าโดยสารล่วงหน้าก่อนตัดสินใจใช้บริการ จึงเกิดความสะดวกต่อผู้ใช้งานและประชาชนให้ความนิยม แต่การบริการดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 ฐานใช้รถไม่ตรงตามประเภทที่จดทะเบียนไว้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000บาท ดังนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนและส่งเสริมให้ผู้ขับรถยนต์ดังกล่าวสามารถประกอบอาชีพได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงดังกล่าวขึ้นมา