ดิ อีโคโนมิสต์ นิตยสารด้านเศรษฐกิจ-ธุรกิจชั้นนำระดับโลกฉบับล่าสุด 2 กุมภาพันธ์ 2556 รายงานสถิติเปรียบเทียบเอาไว้ว่า
ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2555 มาถึง 30 มกราคม 2556 ดัชนีตลาดหุ้นสำคัญทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
ตลาดหุ้นสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.9 ตลาด หุ้นจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 ตามค่าเงินหยวนหรือร้อยละ 9.5 หากคิดเป็นค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 31.4 (11.1) ตลาดหุ้นอังกฤษเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 (15.3)
ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกัน ดัชนีตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.4 ตามค่าเงินบาท
หรือหากคิดมูลค่าเป็นดอลลาร์คือเพิ่มขึ้นร้อยละ 54.2
เพราะค่าเงินบาทไทยแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลสำคัญอย่างสหรัฐ
เปรียบเทียบระหว่างวันที่ 30 มกราคม 2555 กับวันเดียวกันในปี 2556 อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับดอลลาร์สหรัฐ
แข็งขึ้นจาก 31.2 บาท/ดอลลาร์ เป็น 29.8 บาท/ดอลลาร์
เป็นที่รับรู้กันอยู่ทั่วไปว่าสหรัฐอัดฉีดเงินจำนวนนับล้านล้านดอลลาร์เพื่อกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจในประเทศเป็นรอบที่ 3 โดยมีรัฐบาลญี่ปุ่นเดินตามรอยเท้าไปติดๆ
ขณะที่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจหมายเลขสองอย่างจีน แม้จะไม่อัดฉีดเงินออกมากระตุ้นการเติบโต แต่ก็พยายามรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเอาไว้ มิให้เงินหยวนแข็งขึ้นมากนักเมื่อเทียบกับดอลลาร์
เพื่อไม่ให้กระทบรายได้จากการส่งออก
แต่ระหว่างที่ชาติมหาอำนาจแข่งขันกันลดค่าเงินและดอกเบี้ย
ไทยกลับเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลก ที่ตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงจนกระทั่งเกิดภาวะ "เงินไหลเข้า" ล้นทะลัก
และทำให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับเงินตราสกุลหลักสำคัญอื่นๆ ของโลก
ขณะที่หน่วยงานที่รับผิดชอบนโยบาย ด้านเศรษฐกิจการเงินโดยตรงอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย ก็มีขีดจำกัดในการดำเนินนโยบายด้วยสาเหตุหลักสองประการ
ด้านหนึ่ง คือกรอบความคิดที่ยึดเอาการป้องกันเงินเฟ้อเป็นหลัก
อันเป็นที่มาของนโยบายดอกเบี้ยสูงและค่าเงินแข็ง
อีกด้านหนึ่ง คือการดำเนินการตามกรอบข้างต้นด้วยการปกป้องค่าเงินโดยวิธีการต่างๆ
จนกระทั่งมีผลขาดทุน 500,000 ล้านบาท ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555
และคาดว่าจะมากกว่า 700,000 ล้านบาท เมื่อครบรอบบัญชีทั้งปี
แนวทางในการแก้ไขและป้องกันปัญหามิให้ลุกลามเป็น "เศรษฐกิจฟองสบู่" และแตกสลายจนล้มละลายกันครึ่งหรือค่อนประเทศ เหมือนที่เคยประสบมาแล้วในปี 2540 แยกออกเป็นสองแนวทางชัดเจน
ด้านหนึ่ง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เห็นว่าวิธีที่เหมาะสมคือการลดดอกเบี้ย
นายกิตติรัตน์ส่งจดหมายถึงกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยทุกคน กระตุ้นให้กรรมการทุกคนร่วมรับผิดชอบต่อปัญหาเศรษฐกิจ
และรัฐบาลยังแสดงออกถึงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ดังกล่าวในการประชุมเพื่อติดตามภาวะเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 30 มกราคม ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงมาเป็นประธานการประชุมเอง
ขณะที่อีกซีกหนึ่งนำโดยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ข้อเสนอให้ลดดอกเบี้ยและออกมาตรการสกัดเงินทุนไหลเข้านั้น เรื่องดอกเบี้ยเป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือของการดูแลเศรษฐกิจ แต่หลักการคือต้องรักษาสมดุลของเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพทางการเงินในระยะยาว
โดยมีกองเชียร์คนสำคัญคือ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ผู้แก้ไขกฎหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอิสระชนิดลอยค้างอยู่กลางอากาศ
ไม่ต้องรับผิดชอบหรือขึ้นตรงต่อหน่วยงานใดเลยในประเทศ
การต่อสู้สองแนวทางซึ่งมีแนวโน้มจะยืดเยื้อในสถานการณ์ที่ยืดเยื้อไม่ได้
จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างใดหรือไม่
ไม่ควรกะพริบตา
ข้อมูลจาก มติชนออนไลน์
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1360210287&grpid=&catid=12&subcatid=1200
′ฟองสบู่′ก่อหวอด รัฐบาล-แบงก์ชาติ ศึกนโยบาย′ก่อหวอด′
วันที่ 07 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 เวลา 12:01:14 น.