วันนี้ (8 มิถุนายน 2564) เวลา 13.00 น. ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เผยถึงโครงการ “จับคู่กู้เงิน” ที่มีการเริ่มต้นโครงการเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 ซึ่งเป็นผลมาจากมติคณะรัฐมนตรีในการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารและภัตตาคารที่มีอยู่กว่า 120,000 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้เข้าถึงมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู หรือ ซอฟท์ โลน ที่ดำเนินการผ่านสถาบันการเงินได้ โดยได้ร่วมมือกับสถาบันบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME Bank) ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน ในการปล่อยเงินกู้เป็นกรณีพิเศษ อาทิ ดอกเบี้ยต่ำและเงื่อนไขพิเศษ ปลอดหลักทรัพย์ในบางกรณี เพื่อให้ช่วยร้านอาหารต่าง ๆ ได้จริงในทางปฏิบัติ ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้โดยไม่ต้องปิดกิจการหรือปลดลูกจ้าง ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลังในการดำเนินการโครงการนี้ รวมถึงความช่วยเหลือจากภาคเอกชนด้วย
นายกรัฐมนตรียังเปิดเผยถึงมติคณะรัฐมนตรี ว่า ครม.ได้อนุมัติเงินกู้ ตาม พรก.เงินกู้ฯ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อใช้ในการให้บริการตรวจคัดกรอง ดูแล และรักษาผู้ป่วยโควิด อาทิ ชุดตรวจโควิดแบบพกพา เครื่องวัดปริมาณออกซิเจนในเลือด เครื่องช่วยหายใจ รถพยาบาลและอุปกรณ์ช่วยชีวิตขั้นสูง นายกรัฐมนตรียังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท มีการอนุมัติไปแล้ว 984,000ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้วร้อยละ 73 และยังคงเหลือเงินกู้อีกประมาณ 15,000 ล้านบาท
คณะรัฐมนตรียังมีมติเห็นชอบในการจ้างพนักงานราชการเฉพาะกิจ จำนวน 10,000 อัตรา เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 รวมวงเงินกว่า 2,200 ล้านบาท โดยจะเปิดรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีที่จบใหม่ จัดสรรอัตราในหน่วยงานราชการที่มีภารกิจสำคัญและเร่งด่วนทั่วประเทศ โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค ซึ่งจะได้รับค่าตอบแทน 18,000 บาทต่อเดือน มีสัญญาจ้างงานไม่เกิน 1 ปี และได้รับสิทธิประโยชน์เทียบเท่าพนักงานราชการปกติ รวมทั้งเงินประกันสังคม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมาตรการของรัฐบาลที่พยายามช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
คณะรัฐมนตรียังได้รับทราบข้อเสนอจากการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ถึงแผนการเปิดพื้นที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติของ 10 จังหวัดนำร่อง ในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 เริ่มจากจังหวัดภูเก็ต ที่เรียกว่า ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) โดยจะเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป โดยปัจจุบันภูเก็ตมีผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มแล้ว ประมาณ 400,000 คน หรือมากกว่าร้อยละ 60 ของประชากร โดยจะมีการคัดกรองและติดตามตัวนักท่องเที่ยวอย่างเข้มงวด นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาจะต้องมีใบรับรองการฉีดวัคซีนที่ฉีดครบ 2 โดสอย่างน้อย 14 วันก่อนการเดินทาง พร้อมมีใบอนุญาตเข้าประเทศอย่างถูกต้อง และมีการตรวจโรคระหว่างช่วงเวลาการพักอาศัยในพื้นที่ โดยภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ จะมีการประเมินผลและนำไปเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่น ๆ ในระยะต่อไป พร้อมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปรับปรุงรายละเอียดให้เกิดความเหมาะสม ภายใต้ความสมดุลทางความปลอดภัยและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ศบค. และให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติรายละเอียดที่ปรับแก้ไขต่อไป
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก