เน้นช่วยเหลือผู้ว่างงานที่จบ ป.ตรี ตามนโยบายรัฐบาล ให้มีงานทำในช่วงวิกฤตโควิด-19
วันนี้ (15 มิถุนายน 2564) เวลา 13.15 น. นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) เป็นประธานการประชุมชี้แจงการจัดสรรกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการเฉพาะกิจ ผ่านระบบการประชุมทางไกล Video Conference ไปยังสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) ทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อทำความเข้าใจถึงแนวทางการดำเนินการสรรหาและเลือกสรรพนักงานราชการเฉพาะกิจของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรอบระยะเวลาในการดำเนินการ ให้สามารถดำเนินการจ้างพนักงานราชการเฉพาะกิจทั้ง 406 อัตรา ได้ทันภายในวันที่ 2 สิงหาคม 2564 นี้ ณ ห้องประชุม ชั้น 17 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ปกท.ทส. กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 เห็นชอบแนวทางการจัดสรรกรอบอัตรากำลัง และกลไกการบริหารจัดการพนักงานราชการเฉพาะกิจ และผลการจัดสรรกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการเฉพาะกิจ จำนวน 10,000 อัตรา เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) นั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับการจัดสรรกรอบอัตรากำลัง จำนวน 406 อัตรา เพื่อจ้างงานพนักงานราชการเฉพาะกิจในส่วนภูมิภาคระดับจังหวัดทั่วประเทศ ทั้ง 76 จังหวัด โดยจะเป็นการจ้างงานในพื้นที่โดยตรงเพื่อให้เกิดการกระจายการจ้างงานลงสู่ระดับพื้นที่ ซึ่งแต่ละจังหวัดจะได้รับการจัดสรรกรอบอัตรากำลังตามแนวทางที่คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.) กำหนด นั่นคือ จังหวัดที่มีขนาดใหญ่ จำนวน 26 จังหวัด จะได้รับการจัดสรรกรอบอัตรากำลังจังหวัดละ 6 อัตรา จังหวัดที่มีขนาดกลาง จำนวน 22 จังหวัด จะได้รับการจัดสรรกรอบอัตรากำลังจังหวัดละ 5 อัตรา และจังหวัดที่มีขนาดเล็ก จำนวน 28 จังหวัด จะได้รับการจัดสรรกรอบอัตรากำลังจังหวัดละ 5 อัตราเช่นกัน
ปกท.ทส. กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับลักษณะงานที่กระทรวงฯ กำหนดในการจ้างพนักงานราชการเฉพาะกิจในครั้งนี้ จะเป็นกลุ่มงานบริหารทั่วไป ที่เน้นให้มาปฏิบัติภารกิจที่จะมาช่วยเสริมศักยภาพการทำงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระดับพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 1 ปี ตามระยะเวลาการจ้างงาน เช่น การรวบรวมและวิเคราะห์สถานการณ์ข้อมูลและสภาพปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระดับพื้นที่ การสนับสนุนและเร่งรัดการปฏิบัติงานในโครงการสำคัญของกระทรวงฯ เช่น คทช. การปลูกป่าและป้องกันไฟป่า การจัดการสิ่งแวดล้อมทั้งปัญหาขยะและน้ำเสีย ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หมอกควัน ไฟป่า คุณภาพน้ำและอากาศ การจัดการทรัพยากรน้ำและน้ำบาดาล รวมถึงงานด้านพิบัติภัย โดยผู้ที่ได้รับการเลือกสรรจะต้องเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี และผ่านการเลือกสรรตามวิธีที่ประกาศของแต่ละจังหวัดกำหนด ซึ่งสามารถปรับให้เหมาะสมกับจำนวนผู้สมัครในแต่ละจังหวัดได้”