นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจราชการตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน ตลอดจนรับฟังปัญหาความเดือดร้อนจากเกษตรกร จ.บุรีรัมย์ โดยเดินทางไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลชุมเห็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ และโรงเรียนกระสังพิทยาคม อ.กระสังจ.บุรีรัมย์ เพื่อมอบเวชภัณฑ์/ยาฆ่าแมลง ปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ตลอดจนพบปะสมาชิกสหกรณ์ และเกษตรกรในพื้นที่ รวมทั้งชมการฉีดพ่นยาฆ่าแมลงในคอกโค และปล่อยขบวนป้องกันและกำจัดโรคลัมปี สกิน โดยมี นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์นายพจน์พิรัชต์ เนียมจุ้ย รองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกษตรกร และสมาชิกสหกรณ์ เข้าร่วม
รมช.มนัญญา กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายสำคัญและเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) มอบหมายให้กรมปศุสัตว์เร่งควบคุมและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรค และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากโรค ดังนั้นขอให้เกษตรกรมั่นใจว่า โค-กระบือทุกตัวที่อยู่ในพื้นที่ระบาดจะได้รับการฉีดวัคซีนอย่างแน่นอน และจะจัดสรรวัคซีนในแต่ละพื้นที่ตามสถานการณ์การระบาด รวมทั้ง ได้มีการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างกรมปศุสัตว์ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ในการกระจายอุปกรณ์ฉีดพ่นยาเวชภัณฑ์ยาไปสู่เกษตรกร พร้อมทั้งให้ความรู้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ในส่วนของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้มอบหมายให้บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ กำจัดและป้องกันแมลงในพื้นที่ ทำความสะอาดคอกและอุปกรณ์ในการเลี้ยง ทั้งนี้ โรคดังกล่าวไม่สามารถติดต่อสู่คนได้ เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดทางผิวหนังเมื่อโค กระบือ หายแล้ว สามารถรับประทานได้จึงขอให้ประชาชนมั่นใจ
“ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งจัดสรรวัคซีนเพื่อกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ อย่างทั่วถึง รวมทั้ง อ.ส.ค. ซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับดูแลของตน ได้เตรียมสั่งซื้อวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกินสำหรับโคนมโดยเฉพาะ ซึ่งขณะนี้กลุ่มเกษตรกร สมาคมผู้เลี้ยงโค-กระบือ ตลอดจนภาคเอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนได้ โดยแจ้งความประสงค์มายังกรมปศุสัตว์ ขณะเดียวกัน ได้ประสานไปยังนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้เร่งดำเนินการในขั้นตอนการรับรอง อย. ซึ่งท่านได้ให้ความสำคัญและผลักดันเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องอย่างไรก็ตามสหกรณ์จังหวัดบุรีรัมย์ มีความเข้มแข็งและประสบความสำเร็จในโครงตามสำคัญตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ แต่ประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน ดังนั้น จึงต้องบูรณาการทำร่วมร่วมกัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และเยียวยาเกษตรกรให้ได้มากที่สุด” รมช.เกษตรฯ กล่าว
สำหรับ จ.บุรีรัมย์ มีเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์รวม 238,087 ครัวเรือน เลี้ยงโค-กระบือจำนวน 89,254 ราย เป็น โคเนื้อ 393,309 ตัว โคนม 6,785 ตัว และกระบือ 135,975 ตัว สถานการณ์การระบาดของโรคลัมปี สกิน ในพื้นที่บุรีรัมย์ มีพื้นที่เกิดโรคจำนวน 188 ตำบล 905 หมู่บ้าน เกษตรกร จำนวน 26,025 ราย คิดเป็น 29% สัตว์ป่วยสะสม จำนวน 36,994 ตัว คิดเป็น 7% รักษาหายแล้ว จำนวน 22,195 ตัว คิดเป็น60% สัตว์ตาย จำนวน 917 ตัว คิดเป็น 2.5% คงเหลือสัตว์ป่วย 13,882 ตัว คิดเป็น37.5% สำหรับสถานการณ์ ณ วันที่ 25 มิ.ย.64 สัตว์ป่วยคงเหลือ 19,969 ตัว สัตว์ตายสะสม 1,095 ตัว
โอกาสนี้ รมช.มนัญญา ได้เยี่ยมชมบูธกิจกรรมภายในงาน และพบปะสมาชิกโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร เพื่อสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่หันกลับมาประกอบอาชีพทำการเกษตร และกลับสู่ถิ่นฐานร่วมกันพัฒนาบ้านเกิดและใกล้ชิดครอบครัวมากยิ่งขึ้น โดย จ.บุรีรัมย์ มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 272 ราย สหกรณ์เข้าร่วมโครงการ 15 แห่ง ในส่วนของโครงการซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ จ.บุรีรัมย์ มีสหกรณ์เข้าร่วมจำนวน 7 แห่ง ได้แก่ ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรบุรีรัมย์ จำกัด, สหกรณ์การเกษตรกรกระสัง จำกัด, สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. บุรีรัมย์ จำกัด, สหกรณ์นิคมแคนดง จำกัด, สหกรณ์การเกษตรคูเมือง จำกัด, สหกรณ์การเกษตรโนนสุวรรณ จำกัด และสหกรณ์การเกษตรหนองหงส์ จำกัด เพื่อให้สหกรณ์เป็นจุดรวบรวมและจำหน่ายสินค้าของสมาชิกที่มีคุณภาพ รวมทั้งการเชื่อมโยงเครือข่ายการตลาดระหว่างขบวนการสหกรณ์ ภาคเอกชน เพื่อกระจายผลผลิตที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยไปสู่ผู้บริโภค และเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสามารถจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรม