วันที่ 14 ก.ค.64 นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ยังคงแพร่ระบาด มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ต้องมีการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ ปิดสถานที่และกิจการต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อพี่น้องประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับรู้ปัญหาของทุกกลุ่ม และได้ประชุมหารือหน่วยงานด้านเศรษฐกิจเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือประชาชนในทันที โดยรัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบสำหรับลูกจ้างและกิจการใน 10 จังหวัดสีแดงเข้ม มาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน สำหรับประชาชนทั่วประเทศ มาตรการความช่วยเหลือบรรเทาค่าใช้จ่ายของประชาชนด้านอื่น ๆ มาตรการให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษา และมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้
นายธนกร กล่าวต่อว่า สำหรับการช่วยเหลือแรงงานและนายจ้างผู้ประกอบการในระบบประกันสังคมและนอกระบบประกันสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการและมาตรการควบคุมการระบาด เพิ่มจากเดิม 4 สาขาอาชีพ (ก่อสร้าง/ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร /ศิลปะ บันเทิงและนันทนาการ /กิจกรรมการบริการด้านอื่น ๆ) เป็น 9 สาขาอาชีพ โดยสาขาที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ 5 สาขา ได้แก่
1. สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า
2. สาขาการขายส่งและการขายปลีก
3. สาขาการซ่อมยานยนต์
4. สาขากิจกรรมการบริหารและสนับสนุนวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมวิชาการ
5. สาขาข้อมูลข่าวสารและการศึกษา
โดยในระบบประกันสังคม ผู้ประกันตน ม.33 สัญชาติไทย รัฐบาลจะจ่ายเพิ่มเติมให้ลูกจ้าง 2,500 บาท/คน เพิ่มเติมจากจ่ายชดเชยเยียวยาร้อยละ 50 ของรายได้ให้ลูกจ้าง สูงสุดไม่เกิน7,500 บาท เป็นผลให้ผู้ประกันตน ม.33 สัญชาติไทย จะได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐไม่เกิน 10,000 บาท/คน ส่วนผู้ประกันตน ม.39 และ ม.40 สัญชาติไทย ที่ยังประกอบอาชีพอยู่ในปัจจุบัน จะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท/คน ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกอบการ จะจ่ายให้นายจ้างตามจำนวนสูงสุดไม่เกิน 200 คนในอัตรา 3,000 บาท/หัว/สถานประกอบการ
นายธนกร กล่าวอีกว่า ในส่วนของการเยียวยานอกระบบประกันสังคม มีรายละเอียดคือ
** ผู้ประกอบอาชีพอิสระ (ไม่ได้เป็นม.33/ม.39 และ ม.40) ให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม (ม.40) ภายในเดือน ก.ค. 64 เพื่อจะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท/คน
** นายจ้าง/ผู้ประกอบการ และกรณีที่มีลูกจ้าง ให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม (ม.33) ภายในเดือน ก.ค. 64 เพื่อผู้ประกอบการจะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คนในอัตรา 3,000 บาท/หัว/สถานประกอบการ
**ขณะที่ลูกจ้างสัญชาติไทยจะได้รับเงินช่วยเหลือ 2,500 บาท/คน ส่วนกรณีที่ไม่มีลูกจ้างให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม (ม.40) ภายในเดือน ก.ค. 64 จะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท/คน
นอกจากนี้ในส่วนผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” โครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะ ในหมวดร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้าน OTOP ร้านค้าทั่วไป ร้านค้าบริการและกิจการขนส่งสาธารณะ (ไม่รวมกิจการขนาดใหญ่) ให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม (ม.40) ภายในเดือน ก.ค. 64 จะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท/คน กรณีที่มีลูกจ้างให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม (ม.33) ภายในเดือน ก.ค. 64 เพื่อผู้ประกอบการจะได้รับเงินตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คนในอัตรา 3,000 บาท/หัว/สถานประกอบการ และลูกจ้างสัญชาติไทยจะได้รับเงินช่วยเหลือ 2,500 บาท/คน นอกจากนั้นยังมีมาตรการเยียวยาประชาชนทั่วประเทศด้วยการลดค่าไฟ ลดค่าน้ำ เป็นเวลา 2 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนนี้ ก.ค. - ส.ค. 64 ส่วนมาตรการช่วยเหลือด้านการศึกษา ครม. ได้สั่งการให้กระทรวงศึกษาฯ และสถานศึกษาหาแนวทางลดค่าเทอมในภาคเรียนที่ 1 /2564 และวางแผนร่วมกันในการเสนอโครงการที่รัฐจะร่วมสมทบส่วนลดบางส่วนให้แก่สถานศึกษา ให้เสนอ ครม. ภายใน 1 สัปดาห์ รวมถึงแนวทางการช่วยเหลือปัญหาทางการเงินแก่สถานศึกษาเอกชนด้วย เพื่อเราจะผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน