ยศตำรวจ ตำแหน่งและชั้นของข้าราชการตำรวจ
14 ยศ 13 ตำแหน่ง 3 ชั้น
เครื่องแบบตำรวจ
เป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2525) ถึง กฎกระทรวงฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2540) ออกตามว่าด้วยเครื่องแบบตำรวจ พ.ศ.2477 ประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 22 การแต่งเครื่องแบบ และคำสั่ง ตร. เกี่ยวกับเครื่องแบบต่าง ๆ โดย ผบ.ตร. ใช้อำนาจออกคำสั่งตามกฎกระทรวงฯ ข้อ 93, 94 (เครื่องแบบ) หรือ ข้อ 98 (เครื่องหมายประกอบเครื่องแบบ) ประกอบ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 107 และ มาตรา 127
เครื่องแบบตำรวจ จำแนกออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1. เครื่องแบบตำรวจชาย
2. เครื่องแบบตำรวจหญิง
3. เครื่องแบบพิเศษ ซึ่งตามกฎกระทรวงฯ จำแนกออกเป็นประเภทได้ ดังนี้
- เครื่องแบบตำรวจดับเพลิง
- เครื่องแบบตำรวจกองตรวจคนเข้าเมือง
- เครื่องแบบตำรวจดุริยางค์
- เครื่องแบบตำรวจที่ทำหน้าที่ซ่อมเครื่องยนต์
- เครื่องแบบตำรวจน้ำ
- เครื่องแบบตำรวจที่ขับรถจักรยานยนต์ในขบวนเสด็จพระราชดำเนิน
- เครื่องแบบข้าราชการตำรวจกองบินตำรวจ
- เครื่องแบบตำรวจม้า
- เสื้อกันฝนและเสื้อกันหนาว
4. เครื่องแบบพิเศษอื่น ๆ
เป็นเครื่องแบบที่ ผบ.ตร. ใช้อำนาจตามกฎกระทรวงฯ ข้อ 93, 94 หรือ ข้อ 98 ประกอบ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 107 และ มาตรา 127 ออกคำสั่ง ตร. โดยกำหนดรูปแบบ ลักษณะ และโอกาสในการแต่งเครื่องแบบตามภารกิจหรือความเหมาะสม ซึ่งเครื่องแบบประเภทนี้จะต้องมีรายละเอียดที่แตกต่างไปจากเครื่องแบบที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฯ
ตัวอย่างเครื่องแบบตำรวจตามกฎกระทรวงฯ
เครื่องแบบปกติเสื้อเชิ้ตคอพับกากี
เครื่องแบบปกติขาว
เครื่องแบบปกติเสื้อนอกคอแบะกากี
ตัวอย่างเครื่องแบบพิเศษ
เครื่องแบบสนามของตำรวจท่องเที่ยว
เครื่องแบบพิเศษหน่วยเก็บกู้หรือทำลายวัตถุระเบิด (E.O.D.)
ความผิดเกี่ยวกับการแต่งเครื่องแบบ
1. ฐานแต่งเครื่องแบบโดยไม่มีสิทธิ (มาตรา 108)
ผู้ที่แต่งเครื่องแบบตำรวจโดยไม่มีสิทธิ มีโทษจำคุก 3 เดือน – 5 ปี ทั้งนี้ถ้าหากได้กระทำในเขตที่ประกาศกฎอัยการศึก ประกาศภาวะฉุกเฉิน หรือเพื่อกระทำผิดอาญา จะต้องได้รับโทษหนักขึ้นเป็นจำคุก 1 – 10 ปี
ข้อสังเกต เปรียบเทียบกับความผิดฐานสวมเครื่องแบบโดยไม่มีสิทธิ ตามมาตรา 146 ประมวลกฎหมายอาญา
2. ฐานข้าราชการตำรวจแต่งเครื่องแบบในขณะกระทำความผิด (มาตรา 109)
ข้าราชการตำรวจที่แต่งเครื่องแบบตำรวจในขณะกระทำความผิดที่มีโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป มีโทษจำคุก 1 – 7 ปี
ตัวอย่าง
สารวัตร ก. แต่งเครื่องแบบไปเป็นเจ้ามือนั่งเขย่าไฮโลว์ (ฐานเล่นพนันไฮโลว์ (บัญชี ก. ลำดับที่ 23) มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
3. ฐานแต่งกายคล้ายตำรวจ (มาตรา 110)
ผู้ที่แต่งกายคล้ายเครื่องแบบตำรวจ และทำให้ตำรวจถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ทำให้เสื่อมเสียแก่ราชการ หรือทำให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นตำรวจ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 1,000 – 10,000 บาท ทั้งนี้ถ้าหากได้กระทำในเขตที่ประกาศกฎอัยการศึก ประกาศภาวะฉุกเฉิน หรือเพื่อกระทำผิดอาญา จะต้อง ได้รับโทษหนักขึ้นเป็นจำคุก 1 – 10 ปี
ข้อมูลจาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ